วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หุ้นกู้อนุพันธ์ (ELN)

หุ้นกู้อนุพันธ์ (ELN)
 
 


ลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์
เป็นลูกผสมระหว่างหุ้นกู้กับตราสารอนุพันธ์
มีลักษณะพื้นฐานเหมือนหุ้นกู้ เนื่องจากจัดเป็นหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่ออกโดยผู้กู้ ดังนั้นผู้ถือหุ้นกู้จึงมีฐานะเจ้าหนี้
มีลักษณะผลตอบแทนเหมือนกับตราสารอนุพันธ์ เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์มีการจ่ายผลตอบแทนและชำระคืนเงินต้นทั้งหมดหรือบางส่วนโดยอ้างอิงกับปัจจัยต่างๆ แล้วแต่ผู้ออกจะกำหนด ในขณะที่หุ้นกู้ทั่วไปจ่ายผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้แน่นอนและชำระคืนเงินต้นตามราคาที่เสนอขาย เมื่อครบกำหนดอายุหุ้นกู้
เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์มีการจ่ายผลตอบแทนและชำระคืนเงินต้นทั้งหมดหรือบางส่วนโดยอ้างอิงกับปัจจัยอื่น จึงทำให้มีความเสี่ยงที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับผู้ลงทุนในการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป (High Risk, High Return)
การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ยังช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับปัจจัยหลากหลายประเภท การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์จึงเปรียบเสมือนการลงทุนทางอ้อมในปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ราคาหลักทรัพย์รายตัว ดัชนีหลักทรัพย์ ราคาน้ำมันดิบ ราคาหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ที่การลงทุนโดยตรงทำได้ยากหรือมีความซับซ้อนมาก
ปัจจัยอ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์
หุ้นกู้อนุพันธ์สามารถอ้างอิงปัจจัยต่างๆ หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นราคาหลักทรัพย์ ดัชนีหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กระแสรายรับรายจ่ายของธุรกิจ อันดับความน่าเชื่อถือหรือความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ เงิน ยางพารา หรือ น้ำมันดิบ
หุ้นกู้อนุพันธ์แต่ละประเภทก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น
1.Equity-Linked Notes คือ หุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับราคาหุ้น
2.Currency-Linked Notes คือ หุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน
3.Credit-Linked Notesคือ หุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ้างอิง
ด้วยเหตุนี้ หุ้นกู้อนุพันธ์จึงสามารถออกแบบให้เข้ากับนักลงทุนได้ทุกรูปแบบ และยังปรับแต่งให้ตรงกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่นักลงทุนแต่ละคนยอมรับได้ ถือเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจัยอ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์

ความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์
เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์เป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์จึงมีความเสี่ยงจากหลายด้านเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิง ความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เป็นต้น
ผู้ลงทุนจึงควรทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนการลงทุน รวมถึงทำความเข้าใจในลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ประสงค์จะซื้อและขอบเขตความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ พร้อมกับพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุนของผู้ลงทุน และตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดในหนังสือชี้ชวน เพื่อให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้ลงทุนเอง
หุ้นกู้อนุพันธ์อ้างอิงราคาหุ้น ( Equity-Linked Notes : ELN )
ลักษณะของ ELN ที่ออกโดยบล. เอเซีย พลัส
บล. เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดตัวหุ้นกู้อนุพันธ์โครงการแรกของบริษัทฯ โดยได้นำเสนอหุ้นกู้อนุพันธ์ “ELN-ASP#1(-P)” ซึ่งอ้างอิงราคาหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 ให้แก่ผู้ลงทุน
ELN-ASP#1(-P) เป็นหุ้นกู้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนและชำระคืนเงินต้นทั้งหมดหรือบางส่วนขึ้นอยู่กับตราสารอนุพันธ์ (ในกรณีนี้ คือ ผู้ลงทุนทำการ Short put option)
ลักษณะเด่นที่สำคัญของ Short put option คือ ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทน หรือ Premium หากราคาหุ้นอ้างอิงปรับตัวสูงกว่าราคาใช้สิทธิที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า แต่หากราคาหุ้นอ้างอิงปรับตัวต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาใช้สิทธิ ผู้ลงทุนอาจจะเกิดกำไร/ขาดทุนจากการลงทุน (ในบางกรณี)
ELN-ASP#1(-P) จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนประเภท
1. มีมุมมองต่อปัจจัยอ้างอิงแกว่งตัวในกรอบแคบ (ราคาขึ้นหรือลงไม่มาก)
2. ต้องการเก็บหุ้นที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาด
3. ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นกู้ (แต่สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น)
จุดเด่นของ ELN ที่ออกโดยบล. เอเซีย พลัส
บล. เอเซีย พลัส ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อันดับ “A-(tha)” และแนวโน้มมีเสถียรภาพ (ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555) ซึ่งชี้วัดถึงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯที่อาจเกิดขึ้นจากการออก ELN อีกทั้งบริษัทฯยังมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงบนหลักทรัพย์อ้างอิงอย่างต่อเนื่อง
ระบบ ELN System อันทันสมัยทำให้เจ้าหน้าที่การตลาดของบล. เอเซีย พลัส สามารถเลือกและปรับแต่งใบเสนอราคา (ELN Daily Quotation) ได้ตลอดเวลาทุกวันทำการ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและจัดส่งให้กับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนใน ELN ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านทางอีเมลล์หรือแฟ๊กซ์
การหักลดวงเงินในบัญชี Cash Balance ของผู้จองซื้อ ELN กับบล. เอเซีย พลัส ในทันทีที่มีการยืนยันธุรกรรมจากผู้จองซื้อ ทำให้การชำระราคา (Settlement) เป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง
มูลค่าจองซื้อขั้นต่ำเพียง 3,500,000 บาท ต่อ 1 หุ้นอ้างอิง / 1 ราคาใช้สิทธิ / 1 อายุ
ผู้ที่สามารถลงทุนใน ELN ได้
ผู้ลงทุนใน ELN ต้องเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่หรือผู้ลงทุนสถาบัน ตามนิยามของประกาศ ก.ล.ต. ที่ กจ.5/2552
ผู้ลงทุนรายใหญ่ :
1. บุคคลธรรมดาที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมหนี้สินของบุคคลดังกล่าว
2. นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป
ผู้ลงทุนสถาบัน :
1. ธนาคารพาณิชย์
2. บริษัทเงินทุน
3. บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
4. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
5. บริษัทประกันภัย
6. ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
7. ธนาคารแห่งประเทศไทย
8. สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
9. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
10. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
11. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
12. กองทุนรวม
13. ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม 1. ถึง 12. โดยอนุโลม
ทิศทาง ELN ในอนาคตของ บล. เอเซีย พลัส
ปัจจุบัน หุ้นกู้อนุพันธ์เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ลงทุน ประกอบกับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในตราสารประเภทนี้เริ่มมากขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์และพัฒนาแหล่งข้อมูลที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถศึกษาและพิจารณาความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
บริษัทฯมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆให้แก่ผู้ลงทุน หากผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต บล.เอเซีย พลัส พร้อมพิจารณาเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยออกแบบให้เข้ากับผู้ลงทุนได้ทุกรูปแบบ และปรับแต่งให้เข้ากับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้มากขึ้น
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น