วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ส่งมอบความมั่งคั่ง

ส่งมอบความมั่งคั่ง




 


 

หลังจากที่คุณได้สร้างและสะสมความมั่งคั่งของตนเองมาระดับหนึ่ง ก็ถึงเวลาคิดและถามตัวเองว่าตอนนี้คุณมีทรัพย์สิน อะไรบ้าง?แต่ละอย่างมีมูลค่าเท่าไหร่? หรือหากวันนี้คุณเป็นอะไรไป ทายาทจะได้รับมรดกอย่างที่คุณอยากยกให้หรือไม่?
เป็นไปได้ว่า... ถ้าคุณไม่ได้มีการวางแผนและตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่คุณยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สมบัติ ของคุณอาจตกไปอยู่กับคนที่คุณไม่ได้ตั้งใจจะมอบให้ก็เป็นได้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นตามข่าวหน้าหนึ่งอยู่บ่อยๆ... ญาติพี่น้องทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงมรดก หรือลูกนอกสมรสออกมาเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สมบัติ หนักเข้าก็ถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เสียทั้งชื่อเสียงและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

“การส่งมอบความมั่งคั่ง” (Wealth Distribution) จึงเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ ในการบริหารจัดการความมั่งคั่ง เพราะจะช่วยให้สิ่งที่คุณสร้างสมและเก็บรักษามาตลอดชีวิตถูกจัดสรรให้แก่คนที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งการแบ่งปัน ให้กับผู้อื่นตามที่คุณต้องการ โดยหัวใจหลักของการส่งมอบความมั่งคั่งก็คือ “การวางแผนมรดก”
ที่จะช่วยส่งผ่านความมั่งคั่งร่ำรวยจากรุ่นสู่รุ่น แถมยังช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมด จะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ของคุณ
ที่จริงแล้ว... การส่งมอบความมั่งคั่งไม่ได้เป็นเรื่องของการส่งต่อทรัพย์สินให้แก่ทายาทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง "การแบ่งปันให้ผู้อื่น” ทั้งในยามปกติ เช่น การบริจาคให้มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ผู้ที่มีน้อยหรือด้อยโอกาสกว่า และคราวจำเป็นเมื่อมีภัยพิบัติขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ไฟไหม้ น้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งการแบ่งปันเหล่านี้... นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นยามเดือดร้อนและช่วยให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังสุขใจทั้งผู้ให้ อิ่มใจทั้งผู้รับด้วย




 

วางแผนมรดก

 




พูดถึง “การวางแผนมรดก” หลายคนคงส่ายหน้าหนี ไม่เคยคิดที่จะวางแผนมรดกเลยสักครั้ง เพราะคิดว่าเป็นเรื่อง ของคนรวย คิดว่าตัวเองมีทรัพย์สินไม่มากนักจะทำไปทำไมให้เสียเวลา หรือไม่ก็คิดว่าเป็นการแช่งตัวเอง ความคิดเหล่านี้ถือเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ลองปรับทัศนคติเสียใหม่.... ไม่ใช่แค่คนรวยที่มีทรัพย์สมบัติเงินทองมากๆ เท่านั้นที่ต้องทำ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกๆ คนไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อยไม่ควรมองข้าม
หากใครยังมึนๆ งง งง ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนดี ลองเริ่มจากการติดตามทรัพย์สินและหนี้สินของคุณที่กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ ให้มารวมอยู่แหล่งเดียวกัน โดยการจดบันทึกไว้ว่าตนเองมีทรัพย์สินและหนี้สินอะไร? เป็นจำนวนเท่าไหร่? อยู่ที่ไหน? เพื่อให้เป็นระบบระเบียบและสะดวกตอนทำพินัยกรรมมากยิ่งขึ้น
ที่ต้องกล่าวถึงหนี้สิน เพราะหนี้สินก็อยู่ในข่ายที่จะเป็นมรดกตกทอดถึงทายาทได้เช่นเดียวกับทรัพย์สิน ดังนั้น คุณจึงควรระบุไว้ด้วยว่า... คุณมีหนี้สินอยู่ที่ไหน? รวมเป็นเงินเท่าไหร่? เพื่อจะได้นำเงินในกองมรดกมาชำระหนี้สินให้เรียบร้อยก่อนแบ่งสรร ปันส่วนกัน
จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการทำ “พินัยกรรม” โดยพินัยกรรมถือเป็นคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่า... ทรัพย์สินจะถูกส่งต่อหรือถ่ายโอนไปยังบุคคลที่คุณต้องการมอบให้อย่างแน่นอนและครบถ้วน ซึ่งตามกฎหมายคุณสามารถระบุให้ใครหรือองค์กรใดเป็นผู้รับมรดกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติสนิท หรือสายเลือดเดียวกันเสมอไป เพียงแต่ทำพินัยกรรมโดยระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้อย่างครบถ้วนก็ทำให้การจัดสรรทรัพย์สินของคุณเป็นไปอย่างสมบูรณ์ได้
ข้อมูลหลักๆ ที่ต้องระบุในพินัยกรรมประกอบไปด้วย... ข้อมูลส่วนตัว (ชื่อ นามสกุล อายุ ฯลฯ) รายการทรัพย์สินต่างๆ (ที่ดิน บ้าน ใบหุ้น เงินฝากต่างๆ ฯลฯ) กรมธรรม์ประกัน (ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ฯลฯ) รายชื่อผู้รับมรดก ผู้จัดการมรดก จำนวนทรัพย์สินที่ต้องการจัดสรรให้แต่ละคน ลายมือชื่อ และวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม
การทำพินัยกรรมสามารถทำได้หลายแบบ ก่อนทำพินัยกรรม... คุณควรศึกษาวิธีการจัดทำพินัยกรรมหรือปรึกษานักกฎหมายเพื่อให้พินัยกรรมของคุณมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย แต่หากคุณต้องการทำพินัยกรรมแบบที่ง่ายและซับซ้อน น้อยที่สุด คุณก็เพียงเขียนพินัยกรรมด้วยลายมือคุณเองทั้งฉบับว่าคุณมีทรัพย์สินใดบ้าง ระบุให้ละเอียดว่าต้องการยกอะไรให้กับใคร พร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย พินัยกรรมแบบนี้ไม่มีรูปแบบมาตรฐานและไม่จำเป็นต้องมีพยาน แต่เพื่อป้องกันการโต้แย้งว่าพินัยกรรมนี้คุณเป็นผู้เขียนขึ้นเองจริงหรือไม่ ก็ควรมีพยานยืนยันว่าพินัยกรรมนี้ถูกเขียนขึ้นโดยคุณจริง ซึ่งพยานต้องไม่มีส่วนได้เสียและไม่เป็นผู้รับมรดกดังกล่าว
เมื่อทำพินัยกรรมแล้ว... คุณควรปรับปรุงแก้ไขข้อมูลในพินัยกรรมให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยก็ทุกๆ 3 - 5 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าพินัยกรรมของคุณจะถูกนำไปปฏิบัติตามเจตนารมย์ของคุณ ณ ขณะนั้นๆ มีหลายคนที่ทำพินัยกรรมเสร็จแล้วเก็บซ่อนไว้อย่างดี ไม่เคยหยิบมา update เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น มีทรัพย์สินเพิ่ม มีลูกเพิ่ม หรือหย่าร้าง ฯลฯ
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้เด็ดขาด คือ คุณควรบอกให้คู่สมรสหรือบุคคลใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ทราบว่าพินัยกรรม ฉบับล่าสุดของคุณจัดทำขึ้นเมื่อไรและเก็บไว้ที่ใด รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับรหัสตู้เซฟ หรือกุญแจตู้ที่เก็บเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต สมุดเงินฝาก ใบหุ้น โฉนดที่ดิน ฯลฯ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถนำพินัยกรรมและเอกสารต่างๆ ของคุณมาดำเนินการต่อไปได้
กรณีที่คุณจากไปโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมทิ้งไว้ หรือมีพินัยกรรมแต่หาไม่พบ ทรัพย์สินของคุณจะถูกจัดสรรให้แก่ทายาทตามลำดับที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

(1) บุตรและคู่สมรส
(2) บิดา มารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในการจัดการกับทรัพย์สมบัติของคุณ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม คือ รู้จักวางแผนมรดกและใช้พินัยกรรมเป็นเครื่องมือ “คุมเกม” เพราะถึงแม้จะเสียชีวิตแต่คุณยังมีสิทธิคุมเกมการเงินได้ตามกฎหมาย จะยกอะไรให้กับใครก็ได้
สำหรับในบางประเทศที่มีกฎหมายมรดก ผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีเมื่อได้รับมรดกด้วย แต่ในประเทศไทยยังไม่มี การเรียกเก็บภาษีมรดกที่ชัดเจน ทรัพย์มรดกที่ผู้รับมรดกได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม หากต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ผู้รับมรดกก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม
การโอน และเมื่อได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นแล้ว ก็ต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมรดกเป็นที่ดิน ก็ต้องเสียภาษีที่ดิหากมรดกเป็นอพาร์ทเมนต์ให้เช่า ก็ต้องเสียภาษีเงินได้จากรายรับค่าเช่า




คุณรู้หรือไม่... พินัยกรรมทั่วไปสามารถทำได้ 4 รูปแบบ ดังนี้
1. พินัยกรรมแบบธรรมดาที่ทำเป็นหนังสือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ต่อหน้า พยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน ซึ่งพยานต้องไม่เป็นผู้รับมรดก
2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนข้อความทั้งหมดด้วยลายมือตัวเองและต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้เท่านั้น ไม่สามารถใช้พิมพ์ลายนิ้วมือหรือใช้ตราประทับได้ ซึ่งพินัยกรรมรูปแบบนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีพยาน
3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมสามารถไปขอทำได้ที่ที่ว่าการเขตหรืออำเภอ ซึ่งต้อง มีพยานอย่างน้อย 2 คน โดยผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอต้องจดรายละเอียดและอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟังก่อน แล้วจึงลงลายมือชื่อกำกับไว้ทั้งผู้ทำพินัยกรรม พยาน และผู้อำนวยการเขต หรือ นายอำเภอ

4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ เมื่อทำพินัยกรรมเรียบร้อยแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมต้องปิดผนึกและลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยที่ปิดผนึก แล้วนำพินัยกรรมไปแสดงต่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ จากนั้นผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ และพยานอย่างน้อย 2 คน ต้องลงลายมือชื่อกำกับบนซองพินัยกรรม

คุณล่ะ... จะเลือกทำพินัยกรรมแบบไหน?
 
 
 
 
 
ที่มา :: http://www.tsi-thailand.org/
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น