วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เพิ่มพูนความมั่งคั่ง

เพิ่มพูนความมั่งคั่ง
 
 




หลายปีที่ผ่านมา... อัตราเงินเฟ้อพุ่งพรวดแซงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจนแทบไม่เห็นฝุ่น เห็นทีลำพังการออมเงิน ไว้ในธนาคารเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้คุณไปถึงฝั่งฝันหรือมั่งคั่งอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะเงินออมเติบโตไม่ทันราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

เอาเป็นว่า... ถ้าวันนี้เงินของคุณยังนอนนิ่งๆ อยู่ในบัญชีเงินฝาก ทำไมไม่ลองปล่อยให้ออกมายืดเส้นยืดสายทำงานแทนคุณกันดูบ้าง เพราะยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายที่จะช่วย “เพิ่มพูนความมั่งคั่ง” (Wealth Accumulation)ให้คุณได้

“การวางแผนลงทุน” จึงกลายเป็นพระเอกคนสำคัญของเรื่องนี้ เพราะการลงทุนเปรียบเสมือนทางด่วนสู่ความมั่งคั่ง การออกตัวที่ดี ตั้งต้นได้เร็ว และเดินตามแผนที่วางไว้ ย่อมช่วยให้ถึงเส้นชัยได้สมดังใจหวัง
นอกจากนี้ การใส่ใจเรื่องภาษีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้คุณได้เช่นกัน เพราะ “การวางแผน ภาษี” ช่วยลดภาระภาษีของคุณให้น้อยลง เมื่อเสียภาษีน้อยลง คุณก็จะมีเงินออมและลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้มากยิ่งขึ้น ยิ่งในปัจจุบันมีช่องทางการออมการลงทุนหลายประเภทที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือการทำประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งคุณไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะช่วยประหยัด
ภาษีในแต่ละปีลงได้แล้ว ยังถือเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาวให้คุณด้วย





วางแผนลงทุน


ยุคตกต่ำของดอกเบี้ยกลายเป็น “ฝันร้าย” ของชมรมคนพิสมัยดอกเบี้ย
ใครที่เคย “ฝันหวาน” เพราะได้นอนกอดดอกเบี้ยเงินฝากสูงราวๆ 14% - 16%
ต่อปี อย่างเมื่อ 20 ปีก่อน อาจต้อง “ฝันค้าง” เมื่อตื่นมาเจอโลกแห่ง
ความเป็นจริงที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดำดิ่งลงไปเกือบถึง 0% หักลบกับ
อัตราเงินเฟ้อแล้วติดลบด้วยซ้ำไป

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า... ดอกเบี้ยทำให้เงินในกระเป๋า
ของคุณไม่ออกดอกออกผลอย่างที่ใจคิด ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปหาทางเลือก
ใหม่ๆ บ้างดีไหม เผื่อจะทำให้ความมั่งคั่งร่ำรวยเฉียดเข้าใกล้ชีวิตคุณบ้าง

เอาล่ะ... ถึงเวลาออกเดินทาง สานสร้างเส้นทางรวยด้วย “การลงทุน” กันแล้ว!!!

สำหรับผู้ลงทุนมือใหม่หรือหลายๆ คนที่สนใจลงทุน แต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะลงทุนอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มต้น
ตรงไหน ลองเริ่มจาก “รู้จักตัวเอง” ให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด ถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า “เป้าหมาย” การลงทุนของคุณคืออะไร ลงทุนเพื่อบั้นปลายชีวิต เพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ หรือเพื่อทำกำไร ฯลฯ

จากนั้นค่อยพิจารณา “เงื่อนไข” ในการลงทุน ว่าคุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่
มีเงินลงทุนมากน้อยเพียงใด หรือมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้แหละที่จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีว่า... ทางเลือกการลงทุนแบบไหนที่จะเหมาะกับคุณมากที่สุด

เมื่อรู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลา “รู้จักเครื่องมือ” กันเสียที คำว่า “เครื่องมือ” ในที่นี้ก็หมายถึง
“ทางเลือกการลงทุน” นั่นเอง ยิ่งทุกวันนี้มีทางเลือกการลงทุนหลากประเภท หลายสายพันธุ์ ทั้งหุ้นสามัญ พันธบัตร
หุ้นกู้ กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อีกมากมาย แถมแต่ละประเภทต่างก็มีรายละเอียดและความซับซ้อน
ที่แตกต่างกันออกไป

ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะตัว ความเสี่ยง และผลตอบแทน ตลอดจนข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่างๆ
จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณจัดสรรเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

เช่นว่า... คุณมีเงินลงทุนอยู่ก้อนหนึ่ง อยากได้ผลตอบแทนสูงหน่อย รับความเสี่ยงได้เยอะเพราะ
อายุุแค่28 ปี ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้ “หุ้น” อาจเป็นคำตอบของคุณ แต่ถ้าคุณบอกว่าอยากเสี่ยงน้อยหน่อย
ผลตอบแทนไม่ต้องสูงมากก็ได้ “พันธบัตร” หรือ “หุ้นกู้” ก็อาจจะเหมาะกับคุณมากกว่า

หรือถ้าคุณกำลังมองหาช่องทางประหยัดภาษีอยู่ ก็ต้องแฝดพี่น้องคู่นี้
“กองทุนรวมหุ้นระยะยาว
(LTF)”
และ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” รับรองช่วยประหยัดภาษีได้แน่นอน

แต่เหนือสิ่งอื่นใด โจทย์และความชื่นชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่า... เลือกลงทุนในแบบ
ที่คุณพอใจก็แล้วกันเพราะนั่นคือเงินของคุณ คุณจึงต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด
สุดท้าย นอกจากรู้จักตัวเองและรู้จักเครื่องมือในการลงทุนแล้ว ก็ต้อง “รู้จักจังหวะลงทุน” ด้วย เพราะการรู้และ
เข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จิตวิทยามวลชน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อ
ทิศทางการลงทุนจะทำให้คุณสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่แตกต่างกัน รวมถึงสามารถโยกย้าย
เงินลงทุนไปยังทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสมด้วย

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลย ก็คือ ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ดอกผลจากการลงทุนที่งอกเงยกว่าเงินฝาก
จึงมาพร้อมกับ “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้น แต่คุณสามารถจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยการ “จัดสรรเงินลงทุน”
(Assets Allocation) ไปในทางเลือกการลงทุนหลายๆ ประเภท ดังกฎเหล็กการลงทุนที่ว่า “Don’t put

all eggs in one basket” แปลง่ายๆ คือ “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว”
ซึ่งบรรดาผู้ลงทุนทั้งหลาย ทั้งผู้ลงทุนชั้นเซียนหรือมือใหม่น่าจะคุ้นเคยกันดีและท่องจำได้ขึ้นใจ
เพราะไม่ว่าจะตำราหรือคัมภีร์ลงทุนเล่มไหนก็ย้ำนักย้ำหนาว่าให้
“กระจายความเสี่ยง”
(Diversification)
เหตุผลที่ไม่ควรทุ่มเงินไปกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
คุณอาจสูญเสียเงินทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่หากคุณรู้จักจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์
และทิศทางการขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกัน การขาดทุนจากการลงทุนประเภทหนึ่ง อาจถูกชดเชยด้วยกำไรจากการลงทุน
อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว ยังช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนรวมที่ไม่ขี้เหร่จนเกินไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงต้องตั้งอยู่บน “ความพอดี” ทุกวันนี้มีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมั่น
กระจายความเสี่ยงอย่างตั้งอกตั้งใจและจริงจังจนล้ำเส้นความพอดี มีหุ้นตัวเล็กตัวน้อยซุกไว้จนนับไม่ถ้วน หรือหว่านซื้อ
กองทุนเยอะเป็นดอกเห็ด แทนที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ กลับกลายเป็นไม่สามารถดูแลพอร์ตได้อย่างทั่วถึง และอาจส่งผลร้ายกับเงินลงทุน

ทางที่ดี... ควรเดินบนทางสายกลาง หาความพอดิบพอดีให้พอร์ตการออมและการลงทุนของตัวคุณเอง เพียงแค่นี้
ก็ช่วยกรองความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว

ฝากทิ้งท้ายไว้อีกนิดกับประโยคยอดฮิตที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
มีเงินมากมายแต่ชีวิตไร้ค่า ไร้ความสุขคงไม่ดีแน่ เพราะความพอดีเป็นสิ่งสำคัญ การลงทุนที่ดีจึงต้องยึดหลัก “ลงทุนอย่างพอดี” เช่นกัน เพราะชีวิตคือการลงทุน เราจึงต้องสร้างความพอดีจากการลงทุนอย่างครบวงจร
ไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์เท่านั้น แต่เราควรจะกระจายการลงทุนให้ครบทุกด้านของชีวิต

ลงทุนเพิ่มพูนความรู้ เช่น การเรียนต่อ การเข้าอบรมสัมมนา เรียนทำขนม เรียนวาดรูป ฯลฯ
ลงทุนลงเสาเข็มในครอบครัวให้มั่นคง เพราะครอบครัวจะอยู่เคียงข้างเราตลอดไป
การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน แบ่งเวลาให้กันอย่างเหมาะสม จะสร้างความร่ำรวยทางอารมณ์
ได้อย่างดีที่สุด
ลงทุนดูแลสุขภาพ เพราะการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ การมีเงินมากมาย แต่สุดท้ายต้อง
จ่ายเป็นค่าหมอค่ายาก็คงจะแย่ เพราะไม่ได้ใช้สตางค์สร้างความสุข ทั้งช่วงที่ทำงานและ
เมื่อหมดแรงทำงาน
ลงทุนให้รางวัลกับชีวิตบ้าง เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัด หาวันหยุดพักผ่อนอยู่เฉยๆ ไปทำสปา ฯลฯ

คุณล่ะ... จะลงทุนแบบไหนให้ชีวิตมีความสุขครบวงจร?
คุณทราบหรือไม่... “เด็กๆ ก็สามารถซื้อหุ้นได้” ซึ่งการสนับสนุนให้เด็กๆ รู้จักออมรู้จักลงทุน
จะทำให้พวกเขาคุ้นเคยกับการบริหารจัดการเงินของตนเอง และสร้างพื้นฐานความมั่นคงทางการเงินที่ดีในอนาคต

“วอร์เรน บัฟเฟตต์” เริ่มลงทุนในหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 11 ปี
โดยเงินออมจากงานส่งหนังสือพิมพ์ และสามารถซื้อฟาร์มเล็กๆ ได้เมื่ออายุ
14 ปี ปัจจุบันเขากลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับ Top 3 ของโลก
หรือ “คุณเกรียงไกร ศิระวณิชการ” 1 ใน 2 แฟนพันธุ์แท้
ตลาดหุ้นไทย ปี 2005 ก็เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 10 ปี ด้วยเงินเก็บจากค่าขนม
และแต๊ะเอียประมาณ 40,000 บาท โดยมีคุณแม่ของเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
และเป็นผู้ที่แนะนำให้มาลงทุนในหุ้น... 10 กว่าปีผ่านไป เขาได้ผลตอบแทน
สูงกว่าเงินลงทุนถึง 10 เท่า จากการลองผิดลองถูกในการซื้อขายหุ้น
แต่ก็ใช่ว่าการลงทุนจะได้กำไรทุกครั้งหรือไม่มีการขาดทุนเลย
คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสอนให้
ลูกของคุณศึกษาข้อมูล และติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดอยู่เสมอ
คุณเริ่มปูพื้นฐานความมั่นคงทางการเงินให้ลูกของคุณแล้วหรือยัง?

เพราะ ความเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอน และความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากถามว่าความเสี่ยง
มีกี่ประเภท คำตอบที่ได้รับก็จะมีความหลายหลากมาก เพราะเราสามารถแบ่งประเภทของความเสี่ยงได้จาก
หลายมุมมอง โดยภาพกว้างๆ เราสามารถแบ่งความเสี่ยงเป็น 2 ประเภท คือ

1. ความเสี่ยงทั้งระบบ (Systematic Risk)
เป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและเป็นความเสี่ยงที่เราไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้แม้ว่าเราจะกระจาย
การลงทุนอย่างดีแล้วก็ตาม อย่างเช่น วิกฤติซับไพรม์ที่ทำให้ราคาหุ้นในตลาดทั่วโลกลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เป็นต้น
2. ความเสี่ยงเฉพาะตัว (Unsystematic Risk)
เป็นความเสี่ยงเฉพาะของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่เราลงทุนไว้เท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น
ข่าวการพบสารเมลามีนปนเปื้อนในนม จะส่งผลต่อยอดขายและราคาหุ้นของบางบริษัทเท่านั้น ซึ่งการกระจาย
การลงทุนที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงประเภทนี้ได้

“การจัดการความเสี่ยง” ไม่ได้หมายถึงการ “กำจัด” ความเสี่ยงหรือความเสียหายให้หมดไป แต่หมายถึงการ “จำกัด” ความเสี่ยงหรือความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดต่างหาก
คุณคิดว่าความเสี่ยงประเภทไหนที่กระทบต่อการลงทุนของคุณมากที่สุด?
ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า... การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน โดยหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรศึกษาก็คือ “ข้อมูลด้านความเสี่ยงในการลงทุน” ซึ่งมีมากมายและพอจะสรุป
ได้ดังนี้

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
การที่เราไม่สามารถเปลี่ยนหลักทรัพย์เป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ
ความเสี่ยงของตลาด ภาวะราคาหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะพฤติกรรมของผู้ลงทุนในตลาด
ที่เกิดจากข่าวทางการเมืองเศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง
ความเสี่ยงการจากผิดนัดชำระ
อาจทำให้เราไม่ได้รับผลตอบแทนหรือต้องเสียเงินลงทุน
ความเสี่ยงทางธุรกิจ
เป็นความเสี่ยงจากการทำธุรกิจของบริษัทที่เราไปลงทุนไว้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ
หรือการบริหารและการดำเนินงานภายในของบริษัทเอง
ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง มักส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ภัยธรรมชาติ หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าบางอย่างต้องออกไปจากตลาด

มีความเสี่ยงในการลงทุนแบบใดอีกที่คุณรู้จัก? ลองยกตัวอย่างมาสัก
3 ความเสี่ยง
การลงทุนมีความเสี่ยง... เสี่ยงที่จะ “ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ” รวมทั้งเสี่ยงที่จะต้อง
“สูญเสียเงินต้นบางส่วนหรือทั้งหมด” ไป ผู้ลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่คิดว่าตัวเองพร้อมแล้วที่จะลงทุน
จึงต้องถามตัวเองว่า... ถ้าการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เรายอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน

ถ้าไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการจะมีผลกระทบทางการเงินอย่างไร?
ถ้าต้องสูญเสียเงินต้นไปบางส่วนหรือทั้งหมด เราจะเดือดร้อนหรือไม่? เพียงใด?
เรามีเงินสำรองไว้ใช้เพียงพอหรือไม่?
ถ้าลงทุนไปแล้วเราจะวิตกกังวลจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับหรือไม่?

ดังนั้น การประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางการลงทุน
คุณล่ะ... ยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีเพียงไร?
คุณรู้หรือไม่... มีวิธีใช้เงินซื้อของที่เราต้องการได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าเงินจะหมด และไม่ต้องกังวลกับ
การเป็นหนี้สถาบันการเงิน

วิธีที่ว่านี้ คือ “ให้เงินทำงานให้เราก่อน” เริ่มง่ายๆ จากการอดทนรอสักนิด แทนที่จะนำเงินไปซื้อของ
ที่ต้องการทันที ก็ให้นำเงินก้อนนั้นไปลงทุนเพื่อหาดอกผลเพิ่มเติมก่อน จากนั้นจึงนำดอกผลที่ได้หรือเงินรุ่นลูก
ไปทำงานต่อจนได้ดอกผลเป็นเงินรุ่นหลาน แล้วค่อยนำเงินออกมาใช้

เพียงเท่านี้... คุณก็สามารถใช้เงินได้อย่างไม่รู้จักหมด และยังเป็นคนที่รวยอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

คุณให้เงินทำงานแทนคุณแล้วหรือยัง?


กระจายการลงทุน... คุณก็ทำได้
ในโลกของการลงทุน “ความเสี่ยงและผลตอบแทน” มักจะเกิดควบคู่กันเสมอ และหนทางเดียวที่จะสามารถ
จัดการความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ “การกระจายการลงทุน”

จากผลงานวิจัยของ Harry Markowitz จะพบว่า
“การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน”
เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อ
การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยมีสัดส่วนสูงถึง94%
ส่วนที่เหลืออีก 6% เป็น “การคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุน”
และ “การจับจังหวะตลาด” ซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนสูง
เป็นครั้งคราวในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่สามารถสร้าง
ผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณล่ะ... กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง?


ปิรามิดการลงทุน
แนวทางการจัดสรรเงินลงทุนที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันทั่วไป คือ “การกระจายเงินลงทุนเป็นรูปปิรามิด” หรือที่เรียกว่า “ปิรามิดการลงทุน” โดยจะจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถทำนายผลตอบแทนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารระยะสั้น ตั๋วเงินคลัง เงินฝากธนาคาร ฯลฯ และจัดสรรเงินลงทุนส่วนน้อยหรือบางส่วนไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม ฯลฯ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้น
การจัดสรรเงินลงทุนในลักษณะปิรามิดการลงทุนนี้ นอกจากเป็นลงทุนจะมีความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้ในทุกสถานการณ์ด้วย
คุณมีการจัดสรรเงินลงทุนแบบปิรามิดบ้างหรือเปล่า?


บริหารพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเอง
ผู้ลงทุนส่วนใหญ่รู้จักกับคำว่า “การบริหารพอร์ตการลงทุน” หรือ “Portfolio Management”
เป็นอย่างดี แม้บางครั้ง... ฟังแล้วอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ แต่ความจริงแล้วการบริหาร
พอร์ตการลงทุนมีหลักพื้นฐานง่ายๆ อยู่ไม่กี่ข้อ ดังนี้

กระจายความเสี่ยงอย่างสมดุล
ไม่ลงทุนในทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งด้วยเงินทั้งหมดที่มี
ไม่หลากหลายหรือกระจัดกระจายมากเกินไป เพราะจะทำให้ยากในการติดตามราคาและข่าวสารเกี่ยวกับทางเลือกการลงทุนนั้นๆ
มีสัดส่วนการลงทุนเหมาะสมกับเป้าหมายของตัวเอง
มีความสมดุลระหว่างการลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อย ให้ผลตอบแทนแน่นอนกับการลงทุนในทางเลือก
ที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง แต่อาจจะได้บ้างเสียบ้าง โดยผู้ลงทุนแต่ละคนจะเป็นผู้กำหนดสัดส่วน
ที่เหมาะสมเอง
มีความยืดหยุ่นระดับหนึ่ง
สามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากหลักพื้นฐานข้างต้นแล้ว การบริหารพอร์ตการลงทุนที่ดีต้องมีการ “ติดตามและปรับพอร์ต
การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ”
เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุน และเหมาะกับสภาวะตลาดในขณะนั้นๆ
โดยในปัจจุบันผู้ลงทุนสามารถทดลองลงทุนและบริหารพอร์ตการลงทุนด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจริง
ผ่านเมนู “พอร์ตการลงทุนจำลอง” (Virtual Portfolio) ในเว็บไซต์
www.settrade.com

คุณบริหารพอร์ตการลงทุนของตนเองอย่างไร?


จัดสำรับการลงทุนตามวัย
เรื่อง “วัย” และ “อายุ” คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดสรรเงินลงทุน ทั้งที่จริงแล้วปัจจัย
ที่มีผลกระทบต่อการจัดสรรเงินลงทุนของแต่ละคนนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับตัวแปร
อีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางการเงิน วัตถุประสงค์การลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน อาชีพ หน้าที่การงาน
ไปจนถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ

แล้ววัยไหนควรจะลงทุนอย่างไร? เรื่องพวกนี้รู้ไว้ไม่เสียหลาย เผื่อจะได้มีแนวทางในจัดพอร์ตการลงทุน
อย่างมีแบบแผนและสอดรับกับวัยของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่เส้นทางแห่งความมั่งคั่งในที่สุด

วัยเริ่มต้นทำงาน อายุ 21 - 30 ปีเป็นวัยที่ได้เปรียบในการออมและการลงทุนมากที่สุด เพราะ
ยังไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนัก มีเวลาและกำลังในการหา
รายได้อีกนาน จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มี
ีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นได้ถึง 90% โดยหุ้นที่เลือกลงทุน
ควรเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงทางการเงิน
มีเงินปันผลที่น่าพอใจ และมีโอกาสเติบโตในอนาคต ส่วนอีก
10% ที่เหลือควรเก็บไว้ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีความปลอดภัยของเงินต้นสูง และได้อัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน

วัยสร้างครอบครัว อายุ 31 - 40 ปี
เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดในชีวิต และเป็นช่วงที่การเงินค่อนข้าง
จะตึงเครียดกว่าช่วงอื่นๆ แม้หน้าที่การงานจะเริ่มมั่นคง รายได้
เพิ่มสูงขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะอยู่ใน
ช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ
เมื่อมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ก็น้อยลง ผู้ที่อยู่ในวัยนี้จึงควรลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง
เหลือเพียง 50% ขณะเดียวกันก็เพิ่มสัดส่วนของเงินฝากและ
ตราสารหนี้ให้มากขึ้นเพื่อบาลานซ์ความเสี่ยง

วัยปึกแผ่นมั่นคง อายุ 41 - 55 ปี เป็นช่วงที่ชีวิตมีหลักฐานมั่นคงที่สุด ฐานเงินเดือนสูงขึ้น
แม้จะยังมีภาระทางการเงินอยู่ แต่ก็ผ่อนคลายลงไปมาก
ไม่เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ หากเก็บออมและลงทุนอย่างมีวินัย
มาตั้งแต่ต้น ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่ครอบครัวและฐานะ
ทางการเงินดี มีความสมดุลที่สุดในทุกๆ ด้าน แต่เนื่องจากวัยที่ เริ่มมากขึ้น มีเวลาหารายได้เหลืออีกไม่กี่ปี การลงทุนของ
คนวัยนี้จึงเน้นให้้นำเงิน 70% ไปไว้ในที่ปลอดภัยอย่างเงินฝาก และตราสารหนี้ ส่วนที่เหลืออีก 30% ให้แบ่งมาลงทุนใน
หุ้นระยะยาว เพื่อเพิ่มพูนเงินออมและเงินลงทุนให้มากขึ้น
นอกเหนือจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ

วัยเกษียณ อายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่บางคนไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว ขณะที่บางคน
ก็เหลือเวลาหารายได้อีกไม่เกิน 5 ปี ในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ได้
ด้วยเงินสะสมของตนเอง แม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะลดลง
แต่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามวัยและสุขภาพ เงินออม
เกือบทั้งหมดในชีวิตจึงควรอยู่ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้
ี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ใช่ว่าคนวัยนี้จะลงทุนในหุ้นไม่ได้ หากใคร
มีทรัพย์สินเงินทองเก็บออมไว้มากพอ ก็อาจจัดสรรเงินไม่เกิน
10% ไปลงทุนในหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น ถึงแม้จะ
ผิดพลาดเกิดสูญเงินก้อนนี้ไปก็คงไม่กระทบฐานะการเงิน
โดยรวมมากนัก
ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ สำหรับการลงทุนให้เหมาะกับช่วงวัยของคุณเท่านั้น คุณสามารถ
ที่จะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับเงื่อนไขและข้อจำกัดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนระดับความเสี่ยง
ที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อให้มีพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเองมากที่สุด

ตอนนี้คุณอยู่ในช่วงวัยใด? และมีการลงทุนเหมาะสมตามวัยหรือยัง?


จัดทัพลงทุน... เลือกทัพให้เหมาะกับตัวคุณ
นอกจาก “วัย” หรือ “อายุ” แล้ว “ความสามารถในการรับความเสี่ยง” (Risk Tolerance) ก็เป็นอีก
ปัจจัยหนึ่งที่คุณควรนำมาพิจารณาในการจัดพอร์ตการลงทุนด้วย เพราะบางครั้งการลงทุนก็ไม่ได้จำกัดที่อายุ
ุเพียงอย่างเดียว บางคนอายุน้อย แต่ไม่ชอบความเสี่ยง ก็อาจเลือกลงทุนแบบเสี่ยงน้อยๆ ในทางกลับกัน บางคน
ที่อายุมาก อยู่ในวัยเกษียณแล้ว แต่เป็นผู้รอบรู้ มีประสบการณ์การลงทุน รับความเสี่ยงได้มาก และมีเงินลงทุนมาก
ก็อาจจะลงทุนแบบเสี่ยงมากๆ ได้

ความสามารถ
ในการรับความเสี่ยง
ทัศนคติในการลงทุน
สัดส่วนการลงทุน (%)
เงินฝาก
ตราสารหนี้
หุ้น
ต่ำ
อนุรักษ์นิยม (พอร์ตระมัดระวัง)
30%
40%
30%
ปานกลาง
ทางสายกลาง (พอร์ตปานกลาง)
20%
30%
50%
สูง
ทางสายกลาง (พอร์ต)
10%
20%
70%
ในช่วงเริ่มต้นหรือช่วงที่รู้สึกว่ายอมรับความเสี่ยงได้น้อย ควรจัดพอร์ตระมัดระวัง (Conservative)
โดยการลงทุนในหุ้นประมาณ 30% ตราสารหนี้ 40% และเงินสด 30%

หลังจากนั้น เมื่อมีความชำนาญในการลงทุน และคุ้นเคยกับความผันผวนของผลตอบแทนมากขึ้นแล้ว
(ความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่มากไม่น้อย) ควรจัดพอร์ตปานกลาง (Moderate) โดยเพิ่มการลงทุนในหุ้นเป็น
50% ตราสารหนี้ 30% และที่เหลือเป็นเงินสด 20%

และเมื่อมีเงินออมมากขึ้นหรือเป็นมืออาชีพแล้ว (รับความเสี่ยงได้มาก) ผู้ลงทุนอาจจัดพอร์ตเชิงรุก
(Aggressive) โดยการลงทุนในหุ้นเพิ่มเป็น 70% ของเงินลงทุน ส่วนที่เหลือแบ่งลงทุนในตราสารหนี้ 20%
และเงินสด 10%

จากแนวทางการจัดสรรเงินลงทุนข้างต้น จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนในหุ้นนั้นจะแปรผันตามความสามารถ
ในการรับความเสี่ยง กล่าวคือ หากคุณสามารถรับความเสี่ยงได้มาก ก็ควรแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ เพราะหุ้นนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าตราสารการเงินประเภทอื่นๆ ในระยะยาว รองลงมาได้แก่
ตราสารหนี้ ส่วนเงินฝากนั้นจะให้อัตราผลตอบแทนต่ำสุด อาจจะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ยกมาให้ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นที่จะทำให้คุณเข้าใจถึงวิธีการสร้าง
พอร์ตการลงทุนเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ ที่จะบอกถึงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม

สไตล์การลงทุนของคุณเหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่?


5 วิธีสร้างพอร์ตอย่างปลอดภัย
ไม่รู้ ไม่ลงทุน เพราะ “ความไม่รู้คือความเสี่ยง” ผู้ลงทุนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน และรู้จักประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเองด้วย
มีวินัยในการลงทุน ไม่ควรหวั่นไหวไปกับข่าวลือหรือเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กน้อยจนต้องปรับพอร์ตบ่อยๆ
เพราะการตามใจตัวเองบ่อยๆ จะทำให้เสียนิสัยและวินัยในการลงทุน
กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ทั้งประเภทสินทรัพย์และจำนวนหลักทรัพย์ รวมทั้งกระจาย
การลงทุนไปตามระยะเวลา ทั้งระยะกลางและระยะยาว
ปรับพอร์ตสม่ำเสมอ ไม่บ่อยเกินไปแต่ก็ไม่ควรเว้นระยะนานเกินไป โดยดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
และการเงินที่เกี่ยวข้องประกอบ
อดทน จุดอ่อนของผู้ลงทุนส่วนใหญ่ ก็คือ มักจะอดทนต่อสิ่งเร้าได้ไม่ดีพอจึงขาดความรอบคอบในการ
ตัดสินใจลงทุน

ข้อใดที่เป็นจุดอ่อนในการลงทุนของคุณ?


เคล็ดลับการลงทุนสไตล์... ปรมาจารย์
ว่ากันว่า... “การลงทุน” คล้ายกับการเล่นกีฬา เพราะการเล่นกีฬาจะประสบความสำเร็จได้ชัยชนะนั้น
ต้องมีความชำนาญ ทักษะพื้นฐานที่ดี ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับ “การลงทุน” ที่เราต้องขยันเรียนรู้
และอดทนที่จะค้นหาแนวทางลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งเคล็ดลับการลงทุนด้านล่างนี้เหมาะสำหรับผู้ที่กำลัง
สนใจลงทุนหรือกำลังลงทุนอยู่

มีความรอบรู้ (Breadth) ต้องมีความกระตือรือร้นสนใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว และนอกจากข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
กับการลงทุนโดยตรงแล้ว ยังต้องให้ความสนใจกับสิ่งอื่นๆ ด้วย
ช่างสังเกต (Observation) ต้องช่างสังเกต ใส่ใจรายละเอียด และจดจำข้อมูลที่สำคัญๆ ได้ ซึ่งจะทำให้
สามารถวิเคราะห์ และประเมินผลกระทบภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น
รักษาวินัย (Discipline) ต้องรู้จักอดทน อดกลั้น รอคอยจังหวะและโอกาส ไม่ตัดสินใจตามกระแส มีความมั่นคง
ในหลักการและวิธีการลงทุนของตนเอง หากไม่มีวินัยและไม่มีใจหนักแน่นพอ ก็อาจถูกชักจูงไปในทางที่ก่อให้เกิด ความเสียหายได้ง่ายๆ
มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ต้องมองเห็นความเชื่อมโยงของข้อมูลต่างๆ และสามารถประติดประต่อ
ข้อมูลเหล่านั้นจนมองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ ได้ เช่น สภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมของไทย เศรษฐกิจโลก ฯลฯ
มีความยืดหยุ่น (Flexibility) ต้องเตรียมใจให้พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในด้านดีและไม่ดีได้ทุกเมื่อ
เปิดใจพร้อมที่จะยอมรับข้อมูลใหม่ๆ และโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่ยึดติดกับความคิดหรือความเชื่อ บางอย่างตายตัวเกินไป

มีเคล็ดลับข้อไหนที่คุณยังทำไม่ได้บ้าง?





วางแผนภาษี


“ภาษี”
แค่ได้ยินคำนี้หลายคนก็ทำหน้าเบ้ ไม่อยากได้ยินซะแล้ว ทั้งๆ ที่ช่วงเดือนมีนาคมเราก็ทำหน้าที่พลเมืองดี
จ่ายภาษีกันมาทุกปี แต่จนแล้วจนรอด... ภาษีก็ยังทำให้เราปวดหัวอยู่ร่ำไป

หลายคนอาจบอกว่าเรื่องภาษีง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก เพราะฝ่ายบุคคล
คิดคำนวณภาษีแบบเบ็ดเสร็จมาให้ บริษัทไหนๆ เค้าก็ทำให้แบบนี้กันทั้งนั้น
จริงๆ วิธีลัดแบบนี้ก็ดีอยู่ แต่คุณไม่คิดบ้างหรือว่าฝ่ายบุคคลไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง
ของคุณว่าคุณรับจ๊อบกี่งาน ผ่อนบ้านกี่หมื่น มีลูกเรียนอยู่ที่ไหน หรือทำบุญบริจาคทาน
ไปสักกี่มากน้อย รายละเอียดหยุมหยิมขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่แม่ทูนหัวหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ที่บ้าน คงไม่มีใครอยากยุ่งวุ่นวายกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ของคุณนักหรอก เห็นทีคุณควร
จะจัดการทุกอย่างด้วยตนเองก่อนดีกว่า

หลายคนแอบคิดในใจ... จะเสียเวลาไปทำไม จะทำวิธีไหนก็ไม่ช่วยให้
้ ประหยัดขึ้นมาได้สักกี่บาทหรอก หรือบางทีอาจจะคิดว่า... วางแผนภาษีก็เท่ากับ
โกงชาติ หาเรื่องเข้าคุกเข้าตารางเชียวนา!!!
อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เราไม่ได้แนะนำให้คุณโกงภาษีหรือหนีภาษี แต่ให้รู้จักวางแผนภาษีอย่างถูกวิธีและถูกต้อง
ตามกฎหมายต่างหาก

คำว่า “การวางแผนภาษี” คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วนในฐานะพลเมืองดี และ

ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำป
ี เพื่อบรรเทาภาระภาษี
ให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ

เมื่อเสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ขาดไม่เกิน ก็เท่ากับว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้ส่วนหนึ่ง และยิ่งถ้า
คุณวางแผนภาษีเป็นอย่างดี ตัวเงินที่ประหยัดขึ้นมา ขี้คร้านจะทำให้คุณตาโต เพราะได้เงินคืนภาษีจำนวนไม่น้อย ซึ่งภาษี
ที่ได้กลับมานี้เราอาจนำไปต่อยอดให้ออกดอกออกผลสร้างเงินกลับมาให้เราได้

ในขณะที่ “การโกงภาษี” หรือ “การหนีภาษี” คือ การไม่ยอมเสียภาษี หรือความพยายามที่จะเสียภาษีให้น้อยลง
โดยฝ่าฝืนกฎหมายภาษีอากร เช่น จงใจไม่นำรายได้มายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ยื่นรายการไม่ครบ หรือแสดงรายการ
ค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง ฯลฯ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนมีความผิดทางกฎหมายและจะถูกลงโทษตามกฎหมายภาษีอากร

ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่ี่เราจะต้องเสีย
และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า โดยหลักในการวางแผนภาษี คือ รู้ประเภทของรายได้
รู้ค่าใช้จ่าย
ที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนเพื่อลดภาษี รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี

เริ่มที่ “รายได้” เพราะการที่เราต้องเสียภาษีก็เนื่องมาจากการมีรายได้เป็นเหตุ ซึ่งในวิถีชีวิตของคนเสียภาษีส่วนใหญ่
มาจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือเป็นลูกจ้างขององค์กรต่างๆ เป็นหลัก การจัดการกับภาษีเงินได้ที่ได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้าง
จึงไม่ยากเย็นนักหากคุณไม่แอบไปรับจ๊อบหารายได้เสริมจากที่ไหน แต่หากคุณมีเวลาไปรับจ๊อบอื่นด้วยก็ต้องวางแผนให้ดี
ว่าจะเลือกรับเงินเป็นประเภทไหน รับเป็นเงินเดือน หรือรับเป็นงานเหมา เพราะนั่นจะส่งผลต่อจำนวนภาษีที่คุณต้องจ่าย

ดูเผินๆ เหมือนว่ารับเงินประเภทไหนก็เหมือนๆ กันแหละ ยังไงก็ได้เงินมาเหมือนกัน!!! บอกได้เต็มปากเต็มคำเลย
ว่าไม่เหมือนกันแน่นอน และถ้าคุณตัดสินใจผิดพลาดไป คุณอาจต้องเสียใจกับเงินหลายหมื่นหลายพันที่หายวับไปกับตา

ทำไมหน่ะเหรอ? ก็เพราะว่า... รายได้แต่ละประเภทจะหัก “ค่าใช้จ่าย” ได้ไม่เท่ากันนะสิ ตัวอย่างเช่น รายได้ที่
เป็นเงินเดือน กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ 40% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ในขณะที่รายได้จากอาชีพบางอย่าง
สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เช่น ขายของชำ ซักอบรีด หักค่าใช้จ่ายได้ 80% ของรายได้ทั้งปี หรือ
ร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านถ่ายรูป หักได้ 70%ของรายได้ทั้งปี

นี่คือสิทธิประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายที่กฎหมายได้เปิดกว้างไว้ให้ ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายแล้วยังมีอีก
สิทธิประโยชน์หนึ่งที่เราไม่ควรละเลย นั่นก็คือ การนำเอา “ค่าลดหย่อน” ต่างๆ มาหักออกจากรายได้

ค่าลดหย่อนเหล่านี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ตัวเลขรายได้จริงลดลงและเสียภาษีน้อยลง เช่น ค่าลดหย่อน
ส่วนตัว30,000 บาท ถ้าแต่งงานก็สามารถหักค่าลดหย่อนคู่สมรสได้อีก 30,000 บาท หรือถ้ามีลูกอยู่ในวัยเรียนก็สามารถ
หักค่าลดหย่อนบุตรได้อีกคนละ 15,000 หรือ 17,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าลูกเรียนอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ รวมถึง
ค่าลดหย่อนสำหรับบรรดาลูกกตัญญูทั้งหลายที่เลี้ยงดูพ่อแม่อายุ 60 ปีขึ้นไปและไม่มีรายได้ ซึ่งสามารถหักค่าลดหย่อน
บิดามารดาได้อีกคนละ30,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าจะให้สิทธินี้แก่ลูกเพียงคนเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีค่าลดหย่อนอีกมากมายที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม แถมค่าลดหย่อนบางอย่างยังเป็นการส่งเสริม
เพื่อให้เกิดการออมการลงทุนระยะยาวด้วย เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ค่าเบี้ยประกัน เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นเงินลงทุนใน
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินประกันสังคม หรือแม้กระทั่งเงินทำบุญ ล้วนมีผลต่อการประหยัดภาษีทั้งสิ้น

หลายคนลืมที่จะใส่ใจเงินค่าลดหย่อนเหล่านี้ เพราะคิดว่าเป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ แต่ที่จริงแล้ว...เงินส่วนนี้ช่วยประหยัด
ภาษีได้มากเลยทีเดียว ยิ่งมีค่าลดหย่อนมาก ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้มาก

คราวนี้มาถึงเรื่อง “วิธีการคำนวณภาษี” กันบ้าง... หลังจากที่นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้
และหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว จากนั้นเราจะนำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้าโดยเงินได้..

เงินได้สุทธิ
ช่วงเงินได้สุทธิ
อัตราภาษีี (%)
0 - 150,000 บาทแรก
150,000
ได้รับยกเว้น
150,001 - 500,000 บาทแรก
400,000
10%
500,001 – 1,000,000 บาท
500,000
20%
1,000,001 – 4,000,000 บาท
3,000,000
30%
ตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป

37%
ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553

วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้มีรายได้ประเภทเงินเดือนเป็นหลัก แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้ประเภทอื่นๆ รวมอยู่ด้วยต้องคำนวณ
อีกวิธีหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบกัน โดยการนำรายได้ทั้งปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนหรือที่เรียกกันว่า
“รายได้พึงประเมิน” มาคูณด้วยอัตราภาษี 0.5% หากวิธีใดมีจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายสูงกว่าให้เสียภาษีด้วยวิธีนั้น
ซึ่งโดยทั่วไปวิธีแรกจะมีจำนวนที่มากกว่า

เอาล่ะ... มาถึงตรงนี้คุณคงรู้จักองค์ประกอบในการวางแผนภาษีคร่าวๆ แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญ นั่นคือ
“การยื่นภาษี” กันเสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีเงินคืนภาษีด้วยแล้ว คุณต้องกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนและ
ลงลายมือชื่อผู้ขอคืนอย่างชัดเจน ที่สำคัญก่อนยื่นแบบแสดงรายการอย่าลืมตรวจทานรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
รวมทั้งเอกสารที่ต้องแนบเป็นหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน

ทางที่ดี... คุณควรรีบยื่นแบบแสดงรายการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งจะทำให้คุณได้เงินคืนภาษีเร็ว เพราะ
เป็นช่วงที่คนยื่นน้อย แต่ถ้าคุณไม่มีเงินคืนภาษี จะยื่นเร็วหรือช้าก็ไม่มีผลอะไร ที่แน่ๆ คือ อย่าถ่วงเวลาจนเลยช่วงยื่นแบบ
แสดงรายการ (เดือนมีนาคม) เข้าล่ะ ถ้าเกินกว่านั้น แทนที่คุณจะประหยัดคุณกลับต้องจ่ายค่าปรับถึง 1.5% ต่อเดือน
ของเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเชียวนะ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ที่
www.rd.go.th
ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการยื่นภาษีได้อีกทางหนึ่ง

เห็นหรือไม่ว่า... การวางแผนภาษีที่ดีและใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้คุณประหยัดภาษีได้้อย่างมาก
ไม่ว่าจะรายได้ ค่าใช้จ่าย หรือเงินออมเงินลงทุนใดๆ หากคิดย้อนกลับมาถึงเรื่องภาษีได้ก็อย่าละเลยที่จะกลับมาไตร่ตรอง
ให้ดีก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด และเมื่อคุณคุ้นเคยกับตัวเลขยุบยิบเหล่านี้แล้ว ภาษีก็จะไม่สร้าง
ความวุ่นวายในแต่ละปีให้คุณต้องปวดหัวอีกต่อไป
การวางแผนภาษีส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไร ขอเพียงเราได้เริ่มลงมือทำ เมื่อวางระบบ
เริ่มต้นได้แล้ว ปีต่อๆ มาเพียงทบทวนบ้าง เพื่อไม่ให้เสียโอกาสดีๆ ในการประหยัดเงินสดเท่านั้น ซึ่งเรื่องต้องรู้
เพื่อให้การวางแผนภาษีเกิดประโยชน์สูงสุด มีดังนี้

รู้และเข้าใจกฎ ข้อบังคับ
แนวปฏิบัติทางภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเสียภาษีไม่ถูกต้อง
รู้จัดการและจัดเก็บข้อมูลภาษีของตัวเอง
ทั้งการเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายได้ เอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่าย
เอกสารการลงทุน กรมธรรม์ประกันชีวิต ฯลฯ การทำสรุปข้อมูลเหล่านี้ทุกเดือนจะช่วยให้เรารู้ล่วงหน้า
ว่าเราจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมหรือจะประหยัดภาษีได้ประมาณเท่าไรซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการวางแผนภาษี
รู้จักใช้ประโยชน์จากมาตรการที่จะช่วยลดภาระภาษี
เช่น การทำประกันชีวิต การลงทุนระยะยาว การซื้อสลากออมสินบางประเภท ฯลฯ
คุณรู้เรื่องที่ต้องรู้เพื่อการวางแผนภาษีหรือยัง?
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา
โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

บุคคลธรรมดา
คือ ผู้ที่มีเงินได้ประเภทต่างๆ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากรกำหนดไว้ต้องเสียภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็น
ทารก ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ โดยผู้มีเงินได้จะต้องมีแหล่งที่อยู่
ในประเทศไทย หรืออยู่ในประเทศไทยในปีภาษีไม่น้อยกว่า 180 วัน
ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ห้างหุ้นส่วนสามัญ หมายถึง ห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
ตกลงเข้าหุ้นกันเพื่อร่วมกันทำธุรกิจตามวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงจะได้
คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงทำกิจการร่วมกัน
โดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งผลกำไรอันพึงจะได้
ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
หมายถึง บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ได้ถึงความตายระหว่างปีภาษีก่อนที่จะยื่น
แบบแสดงรายการเสียภาษี แม้ว่าจะสิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว แต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ
ผู้จัดการมรดกทายาท หรือผู้ครองทรัพย์มรดก มีหน้าที่ไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแทน
กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
หมายถึง กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่ได้แบ่งให้กับทายาทในปีภาษีถัดจากปีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
หากกองมรดกดังกล่าวมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองมรดก
มีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี
หน่วยภาษีทั้ง 4 หน่วยนี้ ถ้ามีเงินได้เกิดขึ้น ก็ให้นำเงินได้ที่ได้รับมาทำการเสียภาษีในนามของแต่ละหน่วยภาษี
โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นแบบแสดงรายการเป็นผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีกับผู้มีหน้าที่ยื่น
แบบแสดงรายการอาจเป็นคนเดียวกันหรือคนละคนก็ได้

คุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือเปล่า?
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นภาษีทางตรงที่บุคคลธรรมดาอย่างเราต้องเสีย โดยโครงสร้างในการคิด
ภาษีเงินได้บุคลลธรรมดาจะคำนวณจากสูตร

เมื่ออัตราภาษีต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การวางแผนภาษีจึงเป็นการวิเคราะห์ “เงินได้สุทธิ”
เพื่อวางแผนจัดสรรเงินค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และเงินบริจาคตามที่กฎหมายสนับสนุน เพื่อใช้สิทธิประโยชน์
อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ เงินได้ของคนส่วนใหญ่มาจาก 2 แหล่ง คือ รายได้จากการทำงาน และรายได้จากสินทรัพย์
การวางแผนภาษีโดยทั่วไป จึงเป็นการวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่จะช่วยประหยัดภาษีให้เราเพิ่มเติม
จากการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน

คุณมีสินทรัพย์ช่วยประหยัดภาษีบ้างหรือเปล่า?
รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมีอยู่ 8 ประเภท โดยแบ่งตามอาชีพและต้นทุนในการประกอบอาชีพ
ที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมในการคำนวณและจ่ายภาษีมากที่สุด มาดูกันดีกว่าว่า... รายได้ทั้ง 8 ประเภทนั้น
มีอะไรบ้าง

รายได้จากการจ้างงาน
เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จบำนาญ ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ
รายได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้
เช่น ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม ฯลฯ
รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา
เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่ากู๊ดวิลล์ ฯลฯ
รายได้ที่เป็นดอกผลหรือผลตอบแทน
เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ฯลฯ
รายได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน
เช่น บ้านให้เช่า อพาร์ตเมนต์ คอนโด ที่ดิน รถเช่า ฯลฯ
รายได้จากอาชีพอิสระ 6 อาชีพ
ได้แก่ แพทย์ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก ผู้ตรวจสอบบัญชี และจิตรกร
รายได้จากการรับเหมาพร้อมอุปกรณ์และสัมภาระ
เช่น รับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ
รายได้จากการประกอบธุรกิจ
เช่น การพาณิชย์ การขนส่ง อุตสาหกรรม ขายของชำ ประมง เหมืองแร่ เลี้ยงสัตว์ หรือรายได้อื่นๆ
นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 - 7
อย่างไรก็ดี มีหลายกรณีที่เงินได้ของบุคคลอาจถูกจัดว่าเป็นเงินได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะสัญญา
การจ้างงานหรือข้อตกลงทางธุรกิจ คุณจึงควรทำความเข้าใจในข้อกำหนด หลักเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของ
เงินได้ เพื่อให้เกิดการหักค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยคุณสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับรายได้
ประเภทต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่
www.rd.go.th
ทุกวันนี้... คุณมีรายได้ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนบ้างหรือไม่?
คุณรู้หรือไม่... รายได้แต่ละประเภทจะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน?ถ้าไม่เชื่อลองมาดูให้เห็นกับตา
กันเลยดีกว่า

รายได้จากการจ้างงาน
หักค่าใช้จ่ายได้ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
รายได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้
หักค่าใช้จ่ายได้ 40%แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา
เฉพาะค่าลิขสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายได้ 40%แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
รายได้ที่เป็นดอกผลหรือผลตอบแทน
หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
รายได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือหักเหมาตามประเภทของทรัพย์สินที่ให้เช่า เช่น
บ้านโรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม หักค่าใช้จ่ายได้ 20%
ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม หักค่าใช้จ่ายได้ 15%
ยานพาหนะ หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
รายได้จากอาชีพอิสระ 6 อาชีพ
หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือหักเหมา ดังนี้
แพทย์ หักค่าใช้จ่ายได้ 60%
ทนายความ วิศวกร สถาปนิก ผู้ตรวจสอบบัญชี และจิตรกร หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
รายได้จากการรับเหมาพร้อมอุปกรณ์และสัมภาระ
หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือหักเหมา 70%
รายได้จากการประกอบธุรกิจ
หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือหักเหมา ดังนี้
ขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ หักค่าใช้จ่ายได้ 80%
การแสดงของนักแสดง นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ
ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 60% ส่วนที่เกิน 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 40%
แต่รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท ฯลฯ
ตอนนี้รายได้ของคุณนำมาหักค่าใช้จ่ายได้เท่าใด?
มาตรการทางภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้กระตุ้นการออมการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ประชาชน
ตื่นตัวเรื่องการออมการลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการหมุนเวียนของเงินในระบบ เป็นเครื่องมือสำคัญที่เรา
ควรศึกษาเพื่อใช้ในการวางแผนภาษี ซึ่งตัวช่วยประหยัดภาษียอดนิยม ได้แก่

การทำประกันชีวิต
นอกจากจะได้รับความคุ้มครองในระยะยาว และได้ออมเงินอย่างมีวินัยแล้ว เบี้ยประกันของกรมธรรม์ประกันชีวิต
ที่มีอายุสัญญา10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน สลาก ธกส.
เพราะดอกเบี้ยพันธบัตร สลากออมสิน สลาก ธกส. หลายรุ่นตามที่รัฐบาลกำหนด จะได้รับยกเว้นภาษี รวมทั้ง
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรด้วย

การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ โดยเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน
ของกองทุนรวม RMF จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 15%
ของเงินได้ แต่เมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF)
เป็นกองทุนรวมที่ให้ประโยชน์ด้านภาษีคล้ายกับกองทุนรวม RMF คือ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนได้รับยกเว้น
ไม่ต้องรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 15% ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี แต่กองทุนรวม LTF
จะเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้น และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวม LTFจะสิ้นสุดเมื่อครบอายุ
โครงการในปี 2559

การกู้ยืมเงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย
ไม่ว่าจะกู้ยืมจากธนาคาร สถาบันการเงินบริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือกองทุนสวัสดิการของนายจ้าง
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย สามารถช่วยประหยัดภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน
ปีละ 100,000 บาท

การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี รวมทั้งกำไรจากการ
ขายคืนหน่วยลงทุนกองทุนรวมด้วย

การใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล
เพราะเงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10%ซึ่งบริษัทที่จ่ายเงินปันผลให้เราก็ต้องเสียภาษี ดังนั้น
เพื่อเป็นการลดภาระภาษีซ้ำซ้อนกฎหมายจึงให้เราเลือกว่าจะนำยอดเครดิตภาษีเงินปันผลมาหักเป็นเครดิตภาษี
หรือจะเลือกวิธีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ก็ได้

การบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษา
สามารถใช้สิทธินำมาหักภาษีได้ถึง 2 เท่า

นอกจากตัวช่วยประหยัดภาษีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในแต่ละปียังอาจมีตัวช่วยอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อ
ส่งเสริมและสนับสนุนการออมการลงทุนในช่วงนั้นๆ เช่น ผู้ที่ซื้อและโอนบ้านในปี 2552 สามารถนำเงินต้น
มาหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 300,000 บาท นอกเหนือไปจากดอกเบี้ยที่ลดหย่อนให้อยู่แล้ว ฉะนั้น หมั่นติดตาม
ข่าวสารเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณไม่พลาดโอกาสที่จะใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่

คุณมีตัวช่วยประหยัดภาษีไว้ช่วยเพิ่มเงินออมบ้างหรือยัง?


ฝากเงินอย่างไรให้กำไรภาษี

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบดอกเบี้ยเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าโลกจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างไรก็ช่าง ฉันยังคง
ปักหลักฝากเงินไว้กับธนาคารเท่านั้น โดยลืมไปว่า... ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากต่ำติดดิน ถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนไป
ก็แทบไม่เหลืออะไร แถมดอกเบี้ยที่ได้ยังต้องเสียภาษีอีกต่างหาก ลองมาดูกันดีกว่าว่าคุณควรจะฝากเงินอย่างไร
ให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือถ้าต้องเสียก็เสียแบบน้อยที่สุด

ประเภทดอกเบี๊ย
ภาษี
ดอกเบี้ยจากการฝากเผื่อเรียกไว้กับ
ธนาคารออมสิน หรือดอกเบี้ยสลากออมสิน
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จาก ธกส.
ดอกเบี้ยจากการฝากออมทรัพย์ไว้กับ
ธนาคารพาณิชย์
• ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีสิทธิเลือก
ไม่นำมารวมคำนวณตอนสิ้นปีได้
• ถ้าดอกเบี้ยรวมกันไม่เกิน 20,000 บาท
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีสิทธิเลือกไม่นำมารวมคำนวณตอนสิ้นปีได้
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำแบบผูกพัน 2 ปี ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่
1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับเงินฝากประจำทุกประเภท
รวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี
นั้นและผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเมื่อมีอายุ ไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(ข้อ 2 (69) กฎกระทรวง 126)
* กรณีพ่อและ/หรือแม่ฝากเงินร่วมกับบุตรผู้เยาว์ ดอกเบี้ยให้ถือเป็นเงินได้ของพ่อหรือแม่
**กรณีพ่อและ/หรือแม่ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ ดอกเบี้ยที่ได้รับให้ถือเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์

คุณมีเงินฝากที่ช่วยให้กำไรภาษีแบบนี้บ้างมั้ย?


เครดิตภาษีเงินปันผล... ผู้ลงทุนต้องรู้

เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็น “หน่วยภาษี” คือ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล
และบริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ลงทุนจากกำไรสุทธิหรือกำไรสะสม ซึ่งเป็นกำไรหลังภาษี ดังนั้น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
10%จากเงินปันผลที่ผู้ลงทุนได้รับ จึงเป็นภาระภาษีที่ซ้ำซ้อน รัฐบาลจึงให้สิทธิผู้ลงทุนเลือกได้ว่าจะ
“ขอใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล” หรือจะ “ถูกหักภาษีเงินปันผล ณ ที่จ่าย 10%”

การตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่นั้นให้พิจารณาว่า... อัตราภาษีนิติบุคคล
ของบริษัท ที่จ่ายปันผลให้เรา “สูงกว่า” อัตราภาษีเงินได้ของเราหรือไม่ หาก “สูงกว่า”
ก็ควรใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล แต่ถ้าบริษัทนั้นได้รับสิทธิยกเว้นภาษี หรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว
ไม่ควรขอเครดิตภาษีเพราะอาจทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มได้


ถ้าบริษัทเสียภาษีนิติบุคคลในอัตรา 30% เครดิตภาษีเงินปันผลจะเท่ากับ เงินปันผล x 3/7
ถ้าบริษัทจ่ายภาษีนิติบุคคลในอัตรา 25% เครดิตภาษีเงินปันผลจะเท่ากับ เงินปันผล x 1/3
ถ้าบริษัทจ่ายภาษีนิติบุคคลในอัตรา 20% เครดิตภาษีเงินปันผลจะเท่ากับ เงินปันผล x 1/4

คุณเคยใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่?


เทคนิคประหยัดภาษี
คุณสามารถเลือกทำได้หลายวิธี ดังนี้
สามีภรรยาควรแยกยื่นภาษีเงินได้
การแยกยื่นจะทำให้ภาระภาษีโดยรวมต่ำกว่าการนำเงินได้ไปยื่นรวมกันและยื่นแบบเพียงฉบับเดียว เพราะต่างคน
ต่างหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้

หาเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
เช่น ดอกเบี้ยบางประเภท(Links ไปที่เรื่อง “ฝากเงินอย่างไรให้กำไรภาษี”)กำไรจากการขายหุ้นใน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรจากการไถ่ถอนหรือขายหน่วยลงทุน เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินได้จาก
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)เงินได้จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ฯลฯ

เลือกประเภทเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายสูงๆ
เงินได้แบ่งออกเป็น 8 ประเภท แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากันการเลือกประเภทเงินได้ให้เหมาะสม
จึงช่วยประหยัดภาษีได้

กระจายเงินได้เพื่อลดภาษี
เป็นการแตกหน่วยภาษีเพื่อลดฐานภาษีของตนเองให้น้อยลง เช่น กระจายรายได้ให้พ่อแม่หรือลูกหลาน
จัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล รวมถึงการจดสิทธิเก็บกินด้วย

กระจายเงินได้เป็นหลายปีภาษี
เพื่อลดภาระภาษีไม่ให้เข้าสู่ช่วงฐานภาษีที่สูงขึ้นไป

ใช้ประโยชน์จากเงินได้ที่มีสิทธิเลือกแยกคำนวณต่างหากได้
เช่น เงินปันผลหรือดอกเบี้ย ซึ่งผู้ลงทุนมีสิทธิเลือกว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือจะนำมารวม กับเงินได้อื่นๆ
เพื่อคำนวณภาษีใหม่ตอนปลายปี

ใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการลดหย่อนภาษี
เช่น ดอกเบี้ยบ้านเบี้ยประกันชีวิต ฯลฯ

จัดตั้งบริษัทเพื่อลดภาษี
หากทำทุกวิถีทางตามที่กล่าวมาแล้วยังเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 37% อยู่ลองพิจารณาการจัดตั้งบริษัทส่วนตัว
ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลดหรือบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลงได้

เทคนิคใดจะช่วยคุณประหยัดภาษีได้บ้าง?

แตกหน่วยภาษี... ช่วยลดภาษีได้อย่างไร

“การแตกหน่วยภาษี” เป็นเทคนิคยอดฮิตของคนที่มีเงินได้หลายๆ ทางนิยมใช้เพื่อลดฐานภาษี
ของตนเองให้น้อยลง วิธีหนึ่งที่ทำได้ คือการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

ตัวอย่างเช่น นายสมชายและนายสมศักดิ์เป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง โดยนายสมชายมีเงินเดือน
40,000 บาทต่อเดือน และนายสมศักดิ์มีเงินเดือน 50,000 บาทต่อเดือน นอกจากน ี้นายสมชายยังได้ร่วมกับ
นายสมศักดิ์เปิดร้านอาหารที่สวนจตุจักรในวันหยุด โดยจัดตั้งเป็นคณะบุคคลสมชายและสมศักดิ์ขึ้น

ดังนั้น นายสมชายและนายสมศักดิ์จึงเสียภาษีเงินได้ในนามของตนเองจาก “เงินเดือน” เท่านั้น
ส่วน “รายได้จากร้านอาหาร” จะเสียภาษีในนามของคณะบุคคล ซึ่งส่วนแบ่งกำไรจากร้านอาหารที่ได้เสียภาษีไปแล้ว
ทั้ง 2 คนไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในนามของตนเองอีก

จะเห็นว่า... ฐานภาษีของนายสมชายและนายสมศักดิ์จะลดลงจากการแตกหน่วยภาษี โดยการยื่นภาษี
ในนามของนายสมชายหรือนายสมศักดิ์จากเงินเดือน ทั้ง 2 คนจะได้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในส่วนของตนเอง
และเมื่อคำนวณภาษีของร้านอาหารในนามคณะบุคคล คณะบุคคลก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนได้อีก
นอกจากนี้ เงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกของนายสมชายและนายสมศักดิ์จะได้รับยกเว้นภาษี และเงินได้สุทธิ
150,000 บาทแรกของคณะบุคคลก็ได้รับยกเว้นภาษีด้วย

ที่แน่ๆ ถ้าใครสนใจจะใช้วิธีนี้ในการลดภาระภาษีของตนเอง อาจต้องศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ
อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการตรวจสอบจากกรมสรรพากรและข้อโต้แย้งทางแพ่งในอนาคต

ลองบอกข้อดีของการแตกหน่วยภาษีมาสัก 2 ข้อ


ตัวอย่างการวางแผนภาษีของสมหญิง

“สมหญิง” เป็นผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้จากเงินเดือนและโบนัสปีละประมาณ
1,500,000 บาท ซึ่งสมหญิงจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 85,000 บาท จ่ายเงินสมทบเข้า
กองทุนประกันสังคม 9,000 บาท และบริจาคเงินเพื่อการศึกษาอีก10,000 บาท นอกจากนี้สมหญิง
ยังได้รับมอบหมายจากพี่ๆ ให้ดูแลแม่ผู้แก่ชราอายุกว่า 80 ปีด้วย

ลองมาดูกันว่า... กรณีที่ไม่วางแผนภาษีกับกรณีที่มีการวางแผนภาษีสมหญิงจะประหยัดภาษีได้เท่าใด?

คุณลองคำนวณภาษีที่ประหยัดไปได้ของตนเองบ้างแล้วหรือยัง?






 
 
 
 
ที่มา ::   http://www.tsi-thailand.org/
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น