วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปจะปิดฉากลงอย่างไร

ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปจะปิดฉากลงอย่างไร
 
 

"ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปจะปิดฉากลงอย่างไร โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับยุโรปเบาบางลงไม่ใช่เพราะปัญหาลดน้อยลง แต่เป็นเพราะเป็นช่วงพักร้อน (พักรบ)

และนาย Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ให้ความหวังกับนักลงทุนเอาไว้ว่าเขาจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเงินยูโร (และยังย้ำให้มั่นใจว่า “believe me, it will be enough”) แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อสนิทใจว่านาย Draghi และผู้นำยุโรปจะสามารถทำตามสัญญาได้ ทำให้ยังมีการคาดการณ์กันว่าปัญหาเศรษฐกิจยุโรปนั้นจะลงเอยหรือปิดฉากลงอย่างไร เช่นได้เคยมีบทวิเคราะห์ของ Citibank ซึ่งฟันธงว่ามีโอกาสสูงถึง 90% ที่กรีซจะต้องออกจากระบบเงินยูโรในปีหน้า นอกจากนั้น ก็ยังมีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ 2 ชิ้นที่ผมขอนำมาสรุปให้อ่านในวันนี้ครับ


บทวิเคราะห์แรกเป็นของ Douglas Elliot (10 ส.ค. 2512) ซึ่งเป็นนักวิชาการของสถาบันวิจัย Brookings ที่สหรัฐอเมริกา โดยนาย Elliot มองว่า ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ (ปัญหาการขาดความสามารถในการแข่งขันภายใต้ปัญหาหนี้ของสถาบันการเงินและปัญหาหนี้สาธารณะ ตลอดจนความอ่อนแอของกฎเกณฑ์และสถาบันของยุโรปควบกับปัญหาทางการเมือง) ดังนั้น จึงต้องประเมินว่าปัญหาพัฒนาได้ใน 3 ทิศทาง คือ


1. กรณีเชิงบวก (โอกาสเกิดขึ้น 10%) หมายถึง การที่มาตรการต่างๆ ของยุโรปเพียงพอที่จะทำให้ยุโรปสามารถหลีกเลี่ยงหายนะและซื้อเวลาได้นานเพียงพอที่จะสามารถแก้ปัญหาระยะยาวและเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้


2. กรณีฐาน (โอกาสเกิดขึ้น 65%) คือ ผู้นำยุโรปมีมาตรการที่ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหา ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ (blow-up) ขึ้น เช่นสเปนไม่สามารถกู้เงินจากภาคเอกชนได้ ทำให้ลามไปถึงอิตาลี กระตุ้นให้ประเทศกลุ่มยูโรอื่นๆ โดยมีเยอรมนีเป็นแกนกลางยินยอมที่จะทุ่มเทกำลังเงินอย่างไม่กำหนดขอบเขต เช่น การค้ำประกันหนี้ให้กับประเทศที่มีปัญหา ตลอดจนการรวมศูนย์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและการค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบ ทั้งนี้ ประเทศที่มีปัญหาจะต้องยินยอมที่จะถ่ายโอนอำนาจทางการคลังของตนไปอยู่ส่วนกลาง โดยอาจจะให้ไอเอ็มเอฟเป็นผู้ประสาน เพราะมองได้ว่าไอเอ็มเอฟเป็นคนกลาง ในกรณีนี้เศรษฐกิจยุโรปจะต้องย่ำแย่ลงไปกว่าปัจจุบันอย่างมากก่อนที่จะสามารถสะสางปัญหาอย่างครบถ้วนและเบ็ดเสร็จดังกล่าวข้างต้น


3. กรณีเลวร้าย (โอกาสเกิดขึ้น 25%) กรณีนี้เริ่มเหมือนกับกรณีฐาน คือ เกิดปัญหาใหญ่ แต่การเจรจาของผู้นำของยุโรปไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ทำให้ประเทศกรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ อิตาลี และอาจรวมถึงเบลเยียมต้องประกาศพักชำระหนี้ ทำให้กรีซต้องออกจากยูโรและจะมีประเทศอื่นออกจากยูโรตามต่อมา ในกรณีนี้เศรษฐกิจยุโรปจะตกต่ำลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวและเศรษฐกิจของประเทศหลักอื่นๆ เช่นจีนก็จะขยายตัวลดลงอย่างมากด้วย ในกรณีเลวร้ายนี้ไม่มีใครได้ประโยชน์เลยเว้นแต่นาย Mitt Ronney ซึ่งจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีแทนนาย Obama


นิตยสาร The Economist (11 ส.ค.) เขียนแบบติดตลกว่านาง Angela Merkel ซึ่งกำลังพักร้อนอาจจะกำลังสั่งให้ลูกน้องที่ไว้เนื้อเชื่อใจที่สุดไปร่วมกันยกร่างบันทึกลับที่สุด เพื่อประกาศแบ่งแยกประเทศที่อ่อนแอออกจากระบบเงินยูโร เพราะมาตรการปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาได้จึงสมควรที่จะจำกัดความเสียหายให้อยู่ในวงจำกัด โดยการแบ่งแยกประเทศที่อ่อนแอออกมา ทั้งนี้ The Economist ลงแรงยกร่างบันทึกลับที่สุดดังกล่าวมีความยาวถึง 32 ย่อหน้า ซึ่ง The Economist สรุปสาระสำคัญว่านาง Merkel อาจรู้สึกท้อแท้ใจว่าเมื่อพยายามผ่อนปรนให้ความช่วยเหลือประเทศอ่อนแอ ก็จะถูกประชาชนเยอรมนีตำหนิติเตียนและเมื่อพยายามกดดันประเทศอ่อนแอให้ปฏิรูปเศรษฐกิจและมีวินัย ก็ถูกเปรียบเทียบว่าเยอรมนีอยากเข้ามาครอบงำไม่แตกต่างจากการรุกรานของฮิตเลอร์ ในขณะเดียวกัน สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศทางใต้ของยุโรปก็ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว (มีข่าวว่าสมาชิกสหภาพแรงงานกลุ่มหนึ่งในสเปนบุกเข้าไป “ยึด” อาหารและเสบียงต่างๆ จากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งเพื่อนำมาแจกจ่ายครอบครัวของตน เพราะอัตราการว่างงานสูงถึง 34%)


ท่าทีของเยอรมนีนั้นดูเสมือนว่าจะไม่กลัว (ทำใจ) กับการที่กรีซจะต้องออกจากระบบเงินยูโร โดยอาจประเมินอย่างผิวเผินว่าต้นทุนจะไม่สูงมากนัก กล่าวคือ กรีซมีหนี้ที่จะชดใช้ได้ไม่เต็มจำนวนดังนี้


๐ อีซีบีถือพันธบัตรรัฐบาลกรีก 40,000 ล้านยูโร


๐ กรีซได้รับเงินช่วยเหลือจาก troika ไปแล้ว 130,000 ล้านยูโร


๐ ธนาคารกรีกกู้ยืมเงินระยะสั้นจากอีซีบีประมาณ 100,000 ล้านยูโร


๐ ยุโรปอาจต้องปล่อยกู้เงินให้กรีซอีก 50,000 ล้านยูโร เพื่อเป็นสินน้ำใจในการไล่ออกจากระบบยูโรและให้เป็นเงินตั้งตัวใหม่


๐ ดังนั้น ภาระรวมทั้งสิ้น 320,000 ล้านยูโรนั้นจะมีส่วนที่เยอรมนีสูญเสียประมาณ 110,000 ล้านยูโรหรือ 4% ของจีดีพีของเยอรมนี (2.5 ล้านล้านยูโร)


แต่หากกรีซถูกไล่ออกจากระบบยูโร ปัญหาน่าจะลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนจะพะวงว่าอาจประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับกรีซ ข้อกังวลดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักลงทุนไม่กล้าซื้อสินทรัพย์และขายสินทรัพย์ของประเทศที่มีความเสี่ยง คือ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ไซปรัส และสเปน หากเกิดความตื่นตระหนกขึ้นมา นาง Merkel จะไม่มีเวลาที่จะเจรจาทำข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตามที่เยอรมนีต้องการ (เยอรมนีต้องการให้ประเทศที่อ่อนแอยอมโอนอำนาจทางการคลังเข้ามาที่ศูนย์กลางเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการให้ความช่วยเหลือจากผู้เสียภาษีในเยอรมนี) ทำให้จะต้องตัด “เนื้อร้าย” ออกไปโดยเร็ว (amputate above the infection) คือ ให้ สเปน ไอร์แลนด์ โปรตุเกสและไซปรัส ออกไปพร้อมกับกรีซ ในกรณีดังกล่าว The Economist คำนวณว่าหนี้สินทั้งหมดของทั้ง 4 ประเทศน่าจะสูงถึง 1.15 ล้านล้านยูโร (ประมาณ 10% ของจีดีพีของยุโรป) และส่วนที่เยอรมนีจะต้องรับภาระน่าจะเกือบ 500,000 ล้านยูโรหรือ 20% ของจีดีพีของเยอรมนี


อีกทางเลือกหนึ่งซึ่ง The Economist ได้นำเสนอมาโดยตลอด คือ การที่ประเทศที่มั่นคง เช่น เยอรมนี 1. เข้าไปร่วมค้ำประกันหนี้ให้กับประเทศที่อ่อนแอ (mutualization of debt) 2. ลงขันเพิ่มทุนให้กับธนาคารที่มีปัญหาในประเทศที่มีปัญหา 3. ค้ำประกันเงินฝากทั้งระบบในกลุ่มประเทศสมาชิกยูโร The Economist เชื่อว่าทางเลือกนี้จะต้องใช้เงินประมาณ 300,000-400,000 ล้านยูโร โดยเยอรมนีจะต้องรับภาระประมาณ 1/3 หรือ 100,000-130,000 ล้านยูโร ซึ่งหากคลาดเคลื่อนไปบ้างก็จะ “ถูก” กว่ากรณีที่ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อและเกิดความตื่นตระหนกอย่างแน่นอน ซึ่ง The Economist สรุปว่าการ “ซื้อเวลา” และการตั้งความหวังว่าการปฏิรูปและมาตรการรัดเข็มขัดจะเห็นผลโดยเร็ว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตัวนั้นเป็นการหวังแบบลมๆ แล้งๆ เพราะเศรษฐกิจในภาคใต้ของยุโรปกำลังทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กระแสของประชาชนในภาคเหนือของยุโรปที่ต่อต้านการให้ความช่วยเหลือภาคใต้ก็กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น นาง Merkel จึงควรรีบตัดสิน
 
 
 
 
 
ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปจะปิดฉากลงอย่างไร โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น