วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คุณค่าของความคลั่งไคล้

คุณค่าของความคลั่งไคล้
ผมอยู่ในวงการหุ้นและตลาดหุ้นมานาน สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็น คือ หุ้นบริษัทที่ผลิตและขาย หรือให้บริการสินค้า ที่ลูกค้าบางส่วนมีความนิยมสูงมาก
หรือสูงขนาดที่เรียกว่า "คลั่งไคล้" หรือ "เสพติด" มักจะมีราคาดี คือ มีค่า PE สูง และเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงต่อเนื่องยาวนาน ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อย เมื่อเทียบกับหุ้นทั่วๆ ไป ลักษณะของบริษัท หรือสินค้าเหล่านี้ คือ มี "สาวก" ที่เหนียวแน่น
พวกเขามีความต้องการสินค้าของบริษัทสูง พวกเขาอยากใช้สินค้าของบริษัทด้วยเหตุผลต่างๆ โดยเฉพาะเหตุผลทางด้านจิตใจมากกว่าสินค้าของบริษัทอื่น ที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน ความคลั่งไคล้ของสินค้าของบริษัทนั้น แสดงออกให้เห็นเวลาที่พวกเขาไปซื้อของ ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่เวลาเราเห็น เรามักจะรู้สึกได้ ลองมาดูกันว่าสินค้าประเภทไหนบ้างที่คน "คลั่งไคล้"
ก่อนอื่นผมอยากจะเริ่มจากผู้หญิงกับเด็ก เพราะนี่คือ ยอด "นักช้อป" และสินค้าที่พวกเขา คลั่งไคล้ คือ สินค้าแฟชั่นที่สวยงาม และแสดงสถานะที่เริ่ดหรูและ "มีระดับ" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น กระเป๋าถือของหลุยส์วิตตอง เสื้อผ้าของร้านที่มีชื่อเสียงออกแบบโดยนักออกแบบชื่อดัง ผู้หญิงจำนวนมากที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ต่างก็เรียกหาที่จะต้องมีไว้ครอบครอง บางครั้งแม้จะต้องเข้าคิวและ "ยื้อแย่ง" เพื่อจะได้คอลเลคชั่นใหม่ที่เพิ่งออกมาก็ยอม
ส่วนเด็ก อาการความคลั่งไคล้ อาจไม่ติดยึดกับบริษัทมากเท่าตัวสินค้า และการสังเกตต้องติดตามเป็นระยะ เพราะมักเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สินค้าที่พวกเขาคลั่งไคล้ อาจเป็นตุ๊กตารุ่นใหม่ รองเท้ากีฬาบางแบบ เกมคอมพิวเตอร์ และอาจเป็นร้านค้า หรือร้านอาหารที่เด็กร้องขอที่จะเข้าไปใช้บริการ จนเราสังเกตได้ การติดตามหาสินค้า หรือบริษัทเหล่านี้ การสังเกตและใช้ "ความรู้สึก" จะช่วยให้เราได้พบหุ้นก่อนคนอื่น
ถัดจากผู้หญิงและเด็ก คือ ผู้ชาย ซึ่งความคลั่งไคล้อาจไม่สูงเท่า แต่พวกเขา "ติด" อะไรหลายๆ อย่าง สินค้าแรกที่โดดเด่นมาก คือ บุหรี่ นี่คือ สุดยอดของสินค้าที่ทำเงิน "มโหฬาร" แม้กำลังถูก "ต่อต้าน" โดยภาครัฐและสังคมทั่วโลก สินค้าที่คนบางคนอาจจะติดแต่คนส่วนมากอาจแค่ "คลั่งไคล้" เล็กน้อย คือ เหล้าเบียร์และสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ นี่เป็นสินค้าที่คนดื่มอาจจะติดรสชาติของสินค้าบางยี่ห้อ ที่ทำให้มีค่าสูงกว่าปกติ เช่นครั้งหนึ่งยี่ห้อจอห์นนี่วอล์คเกอร์ก็ค่อนข้างดังมากในย่านเอเชีย แต่เดี๋ยวนี้ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นยี่ห้อไหน
บางที เหล้าวอดก้ายี่ห้อ Grey Goose อาจกำลังเป็นที่คลั่งไคล้ของคนมีระดับก็เป็นได้ เพราะผมเคยเห็นมีการกล่าวถึงในนิยาย หรือบทความ หรือข่าวงานเลี้ยงในวงสังคมอยู่บ้างว่า เป็นเหล้าที่มีระดับ "สุดยอด" นอกจากเหล้าเบียร์แล้ว ผู้ชายอาจมีแนวโน้มที่ชอบ หรือคลั่งไคล้การพนันและในเรื่องของการ "แข่งขัน" เช่น การชมและพนันการแข่งขันกีฬาต่างๆ เป็นต้น
กลุ่มสุดท้าย คือ คนทั่วไป โดยเฉพาะวัยรุ่นจนถึงอายุใกล้เกษียณ ความคลั่งไคล้ระยะหลังๆ หนีไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่เป็นการติดต่อไร้สาย ดูเหมือนจะสังเกตได้ง่ายมาก เช่น สินค้าตระกูล ไอโฟน และไอแพด ความคลั่งไคล้ เกิดทั่วโลกและเกิดใกล้ตัว จึงไม่มีใครไม่รู้ แต่คนที่ตัดสินใจซื้อหุ้นก่อนที่งบการเงินของบริษัทแอ๊ปเปิ้ลจะออก สามารถทำกำไรได้มหาศาล และ หุ้นของบริษัทที่มีสินค้าที่คนคลั่งไคล้ทั่วโลกนี้ กลายเป็นหุ้นที่มูลค่าสูงที่สุดในโลก หลังจากที่ผลิตสินค้าที่คนคลั่งไคล้ติดต่อกันมานานเพียงสิบกว่าปี
พูดถึงเรื่องโทรศัพท์ น่าจะยังคงจำได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บีบี เป็นโทรศัพท์ที่คนคลั่งไคล้กันทั่วโลกเช่นกัน เห็นได้จากดาราไทย ที่ใช้กันเกือบทุกคน และช่วงนั้น บริษัทที่ผลิตบีบีมีค่าสูงมาก แต่หลังจากที่กระแสของบีบีตก มูลค่าหุ้นก็ตกลง และบริษัทอาจกำลังมีปัญหาทางการเงิน ไหนๆ ก็พูดแล้ว ซัมซุงมีแทบเล็ตที่คนเริ่ม "คลั่งไคล้" อยู่เหมือนกัน เห็นได้จากยอดขายที่สูงลิ่ว ทำให้ซัมซุงที่ผลิตมันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหุ้นเกาหลีขณะนี้
ความคลั่งไคล้ ไม่จำเป็นต้องเกิดในระดับนานาชาติ หรือแม้แต่ทั่วประเทศ อาจจะเป็นสินค้าของบริษัทเล็กๆ ระดับท้องถิ่น ข้อสำคัญ คือ ต้องเห็นว่าสินค้านั้น มีกลุ่มคนที่ "คลั่งไคล้" และยอมจ่ายเงินซื้อ อาจสูงกว่าสินค้าแบบเดียวกัน เพื่อจะได้สินค้ามาใช้หรือมากิน ตัวอย่างเช่น ช็อกโกแลตของ See’s Candy ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านขายขนมหวาน และช็อกโกแลตที่บัฟเฟตต์ซื้อมาเป็นบริษัทแรกๆ ซึ่งบัฟเฟตต์ยอมจ่ายเงินซื้อหุ้นที่ "ไม่ถูก" และมีค่า PE สูงกว่าที่เขาเคยซื้อ
เหตุผล คือ ช็อกโกแลตของ See’s มีราคาแพงมาก ดังนั้น คนที่ซื้อ โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง น่าจะต้องติด หรือคลั่งไคล้สินค้าของบริษัท จึงได้ยอมซื้อมาตลอด เหนือสิ่งอื่นใด ขนมหวานเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนมักจะคลั่งไคล้ ผมยังจำได้ถึงครั้งหนึ่งที่ มีโดนัทยี่ห้อหนึ่งจากมาเลเซีย มาเปิดขายในเมืองไทย แล้วคนเข้าคิวซื้อกันยาวเหยียด ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คนก็เลิกเห่อและร้านที่ขายก็ปิดตัวลง
หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็มี โดนัทยี่ห้อใหม่อีกยี่ห้อหนึ่งจากอเมริกา ที่เข้ามา และทำให้คนคลั่งไคล้ต่อ อาจจะถึงวันนี้ ความคลั่งไคล้ที่จบลงง่ายๆ อาจจะไม่ให้คุณค่าอะไรมากนัก ดังนั้น เราต้องพยายามมองให้ออกว่าสินค้านั้นจะอยู่ทนได้แค่ไหน
คุณค่าของความคลั่งไคล้ จะมากหรือน้อยต้องขึ้นอยู่กับระดับความคลั่งไคล้ว่า มีมากหรือน้อยแค่ไหน ถ้ามากระดับที่เรียกว่า "เสพติด" เลย ก็มีค่ามากขึ้น นอกจากนั้น ระยะเวลาที่คนจะคลั่งไคล้ น่าจะยาวแค่ไหน ถ้ายาวมาก หรือ เกือบจะ "ถาวร" อย่างกรณีของ หลุยส์วิตตอง คุณค่าก็มากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นที่อาจทำให้คนคลั่งไคล้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม สุดท้ายคือ จำนวนคนที่คลั่งไคล้ ถ้ามีมากทั่วประเทศ หรือทั่วโลก คุณค่าก็มากขึ้นตามจำนวนคน
คุณค่าของความคลั่งไคล้จะมาก หรือน้อย สะท้อนออกมาจาก Profit Margin หรือ กำไรต่อยอดขาย ที่จะสูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทธรรมดาที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน แต่คุณค่าที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ตลาดจะให้ราคาหุ้นที่แพงกว่าบริษัทธรรมดามาก วัดจากค่า PE ของหุ้นที่มีคนคลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์จะสูงกว่าบริษัทธรรมดามาก บางทีอาจจะสูงกว่าเท่าตัว เช่น ถ้า PE ของบริษัทที่ไม่มีอะไรโดดเด่นเท่ากับ 10 เท่า บริษัทที่มีคนคลั่งไคล้ในสินค้าสูง และต่อเนื่องยาวนานอาจมีค่า PE สูงถึง 20 เท่า
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกได้ว่าสินค้าไหน หรือร้านไหนมีคนคลั่งไคล้ช่วงต้นๆ ที่จะทำให้เรามีโอกาสซื้อหุ้นก่อน เหตุผลคือ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำเครื่องวัด หรือทำแบบสอบถาม เพื่อทำวิจัยในสถานการณ์แบบนั้น เป็นหน้าที่ของเราต้องใช้ SENSE หรือความรู้สึก เมื่อประสบกับคนที่ใช้สินค้าหรือบริการ อีกทางหนึ่งที่จะทำเงินกับบริษัทเหล่านั้น คือ บางสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นตกต่ำ หรือบางช่วงที่บริษัทเหล่านั้นมีปัญหา ทำให้หุ้นตกมาก แต่เราดูแล้วว่า สินค้าของบริษัทยังได้รับความนิยมขนาดคลั่งไคล้อยู่ต่อไปได้ ก็เข้าซื้อหุ้นแล้วรอให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ และนี่ก็คือวิธีทำเงินจากหุ้นที่คนคลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์
 
 
 
 
 



 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น