วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"ศุภชัย ปาจริยานนท์" คิดอย่างคนรุ่นใหม่...ออมก่อน...รวยก่อน

"ศุภชัย ปาจริยานนท์" คิดอย่างคนรุ่นใหม่...ออมก่อน...รวยก่อน
 
 
 
 
ไม่ใช่แค่บทบาทการเป็น "นักศึกษาแพทย์" เท่านั้น แต่ปัจจุบันชีวิตของ "ศุภชัย ปาจริยานนท์" ยังเป็นทั้ง "นักลงทุน" และ "นักธุรกิจ" ที่ประสบความสำเร็จด้วยวัยเพียงแค่ 20 ต้นๆ เท่านั้น
การคว้าตำแหน่งผู้ชนะรางวัลชนะเลิศการบริหารเงินส่วนบุคคล (Money Management Ambassador) ในโครงการ "Money Management Award" (MM Award) ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา อาจเป็นเวทีที่ทำให้เขาได้แสดงความสามารถในด้านการบริหารจัดการเงินลงทุน แต่นั่นไม่ใช่ก้าวแรกสำหรับการออมและลงทุนของเขา
ศุภชัยเล่าว่า เขาเริ่มรู้จักกับการออมตั้งแต่เด็ก เริ่มจาก 3 ขวบ แม่ให้เงินไปโรงเรียนวันละ 5 บาท ตอนนั้นเริ่มอยากได้โน่นได้นี่ จึงเริ่มหาทางเก็บออมเงินด้วยตัวเอง นั่นเป็นจุดเริ่มที่สนใจเรื่องการเงิน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเติบโตในครอบครัวที่มีพ่อและแม่เป็นสัตวแพทย์ทั้งคู่ ชีวิตในวัยเด็กจึงได้รับการปลูกฝังให้รู้จักการออมเงินและบริหารเงินตั้งแต่วัยเยาว์
"ผมเริ่มเปิดบัญชีเงินฝากของตัวเองตั้งแต่ 7-8 ขวบ ตอนนั้นก็เริ่มคิดว่าดอกเบี้ยที่แบงก์ให้ต่ำมาก จึงเกิดการเปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินฝากของแต่ละแบงก์ และเริ่มจัดสรรเงินออม ย้ายไปฝากเงินในที่ๆ ให้ผลตอบแทนดีขึ้น จากนั้นผมได้ติดตามข่าวสารด้านการออมและลงทุนมาตลอดจนถึงวันนี้"
เมื่อเริ่มออมจึงเป็นบันไดนำไปสู่การลงทุน ศุภชัยเล่าว่า เขารู้จักการลงทุนในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นหรือกองทุนรวมตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย
"ตอนนั้นผมอายุ 17 และคิดว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ควรจะพึ่งมืออาชีพ ในเวลาเดียวกันผมก็เริ่มศึกษาข้อมูลหุ้นเป็นรายตัว การลงทุนครั้งแรกของผมจึงเป็นการลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ ด้วยเงินก้อนแรก 4 หมื่นบาท ซึ่งตอนนั้นผลตอบแทนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี สิ่งที่ผมคิดตอนนั้นคือคนเราควรจะมีโอกาสหาผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก"
จากก้าวแรกของการลงทุนผ่านกองทุนรวม ปีถัดมาเมื่ออายุ 18 ปี ศุภชัยเริ่มลงทุนในตลาดหุ้น โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ พื้นฐานดี จ่ายปันผลสูง ซึ่งศุภชัยบอกว่าเขาเป็นนักลงทุนประเภท "Value Investor"
"ตอนนั้นผมเริ่มรู้แล้วว่า ลงทุนในหุ้นดีกว่า แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเวลาหรือเปล่า แต่ผมไม่มีเวลา เพราะต้องเรียนด้วยเลยต้องลงทุนแบบคอนเซอร์เวทีฟไปเรื่อยๆ ช่วงปิดเทอมนั่นแหละถึงได้ลองสนาม และลงทุนแบบเอ็กเกรสซีฟได้ แต่จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่ลงทุนแบบไม่รีบร้อน รอได้ ช่วงแรกๆ ผมอาจจะคอนเซอร์เวทีฟ แต่เมื่อมั่นใจขึ้น ก็อาจจะลงทุนแบบเชิงรุกมากขึ้น"
สิ่งหนึ่งที่เขาได้ข้อคิดจากการลงทุนในตลาดหุ้นคือ "ไม่มีใครที่ลงทุนในหุ้นแล้วไม่เคยบาดเจ็บ" ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรจะมีคือ "วินัย" ในการลงทุน นอกจากนี้ยังต้อง "คัทลอส" เป็น ต้องรู้ว่าจุดไหนคือราคาที่เราพอใจ ซึ่งเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ก็ควรจะหยิบบทเรียนจากความผิดพลาดนำมาแก้ไข
"ลงทุนให้มีวินัยมากขึ้น แทนที่จะลงทุนแบบตามใจตัวเอง"
ศุภชัยบอกว่า ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของเขาใช้หลักลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่ตัว โดยจะเลือกหุ้นตามลักษณะธุรกิจว่าเขาทำอะไร บริษัทมีกำไรหรือไม่ อนาคตจะเป็นอย่างไร มีหนี้สินหรือไม่ คือจะคิดตามหลักลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐาน ดูปันผลด้วย
ศุภชัยยังเล่าถึงประสบการณ์จากการเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน MM Award ในปีก่อน ว่าได้มีโอกาสเยี่ยมชมการทำงานของสถาบันการเงินชั้นนำ และหน่วยงานทางการเงิน เช่น เทเลวิชั่น เซ็นเตอร์ ภายใน London Stock Exchange สถานีโทรทัศน์ บีบีซี และที่เมอร์ริล ลินช์ ฮ่องกง ซึ่งถือเป็นประสบการณ์พิเศษ ที่ไม่สามารถหาได้จากการแข่งขันทั่วไป นับว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์รับการทำงานจริงจากผู้มีประสบการณ์ตรง ทำให้เข้าใจตลาดทุนและการทำงานที่เกี่ยวข้องในภาพของการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลและประสบการณ์เหล่านี้ เขาได้นำมาถ่ายทอดให้กับคนรอบข้าง ได้มีโอกาสนำเสนอในการเสวนาต่างๆ และปรับใช้เป็นเทคนิคในการบริหารเงินของตัวเอง
"จึงอยากชักชวนเพื่อนๆ ที่สนใจให้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะโครงการนี้สอนให้เราปลูกฝังเรื่องเงินจากคนใกล้ตัว ว่าการลงทุนเป็นยังไง ผมได้มีโอกาสประชาสัมพันธ์โครงการ ให้วัยรุ่นรู้จักการบริหารเงินมากขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแนวทางของ Personal Finance ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าใครก็ทำได้"
แม้ยังอยู่ระหว่างร่ำเรียนทางด้านหมอ กับอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นประธานกรรมการบริษัท First Vision Advantage แต่ศุภชัยก็ได้หยิบประสบการณ์ที่ได้จากการออมและลงทุน มาปรับใช้กับการจัดสรรและบริหารเงินในชีวิตประจำวัน
"แต่ก่อนถ้ามีเงิน 100 บาท ผมมักจะพูดถึงเป้าหมายของการลงทุน ซึ่งผมว่านอกจากจะดูเป้าหมายของเราเป็นหลักแล้ว ยังต้องดูสภาวะตลาดและปัจจัยอื่นด้วย เช่นว่าปีที่ผ่านมา ผมลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ประมาณ 80% ของเงินลงทุน ส่วนอีก 20% เป็นการลงทุนผ่านกองทุนและเงินหมุนเวียน แต่ปีนี้ความผันผวนมีมากขึ้น ความเสี่ยงมากขึ้น ผมจึงลดการลงทุนในหุ้นลงเหลือ 50-60% และไปเพิ่ม 30-40% ในธุรกิจซอฟต์แวร์"
ศุภชัยมองว่า เขาเป็นคนที่อายุยังน้อย ยังสามารถ "เสี่ยง" ได้มากกว่าคนอายุเยอะ โอกาสพลาดเกิดขึ้นได้มากกว่า แม้โอกาสพลาดจะมีมากกว่าการเอาชนะตลาดก็ตาม แต่หากเริ่มลงทุนเร็วโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จที่ได้ก็มีมากขึ้น
เพราะเชื่อว่า "ออมก่อน ....รวยก่อน" นั่นเป็นกฎที่ศุภชัยยึดถือเสมอ
 
 
 
 
ที่มา :: http://www.nationejobs.com/
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

1 ความคิดเห็น:

  1. “งาน” มีความสำคัญกับทุกคน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า “การเงิน” ก็มีความสำคัญ ต่อการใช้ชีวิต ไม่น้อยไปกว่ากัน ลำพังการทำงานหาเงิน ไม่ได้ช่วยให้ คุณมั่งคั่งขึ้นมาได้ หากขาดหลักการใช้เงิน และบริหารเงิน ด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง







    .

    ตอบลบ