วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คุณหมอ 'ร้อยล้าน' ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้พิสมัย 'การลงทุน'

คุณหมอ 'ร้อยล้าน' ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้พิสมัย 'การลงทุน'
วิธีสร้างความรวย 'หมอคิดส์' นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ จากเงินเก็บ 'หลักแสน' สู่พอร์ตหุ้น, อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ยึดในแวดวงดิจิทัลบริษัท MCFiva Thailand จำกัด บริษัท Digital Agency เล็กๆ แต่เป็นเจ้าของสิทธิบริหารสื่อโฆษณาในประเทศไทยให้กับ “ทวิตเตอร์” โซเชียลมีเดียที่กำลังมาแรงในขณะนี้ บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งโดย นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ หรือ “หมอคิดส์” ซึ่งมีดีกรีแพทย์ศาสตร์บัณฑิตจากศิริราช เขายังเป็นผู้คิดค้นระบบเทรดหุ้น Settrade ซึ่งขายสิทธิให้กับตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่สิบปีที่แล้ว จัดเป็นเด็กหนุ่มสติเฟื่องในวงการไอที

นอกจากบทบาทคุณหมอไอทีแล้ว เขายังสวมบทบาทเป็น “นักลงทุน” เต็มตัว มีดีกรีชนะเลิศรางวัลบริหารเงินส่วนบุคคล (Money Management Ambassador) ในโครงการ Money Management Award (MM Award) ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546 แม้แนวทางการลงทุนของเขาจะนิยมเก็บตัวเงียบ ไม่เข้ากลุ่มก๊วนกับใคร แต่มูลค่าพอร์ตก็นับว่า "ไม่ธรรมดา"

จากการเปิดเผยผ่านรายการทีวีของพิธีกรฝีปากกล้าคนหนึ่ง ความมั่งคั่งของเขาน่าจะมีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ด้วยวัยยังไม่ถึง 30 ปี กรุงเทพธุรกิจ BizWeek จึงตามไปเจาะลึกวิธีการสร้างความมั่งคั่งของคุณหมอหนุ่มสติเฟื่องรายนี้ โดยนัดหมายกันที่สำนักงานบริษัท MCFiva ย่านใจกลางกรุง เพื่อพูดคุยเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ

“ผมเรียนจบมาทางด้านไอทีสำหรับการแพทย์เป็นสาขาวิชาใหม่ในเมืองไทย ปัจจุบันนอกจากเป็นนักลงทุนแล้วยังทำธุรกิจส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน ที่ว่าผมมีพอร์ต 100 ล้านบาท จริงๆ รวมกันทั้งพอร์ตหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจส่วนตัว” หมอคิดส์ เปิดประเด็น

ศุภชัย เล่าประวัติตัวเองให้ฟังว่าสมัยเด็กได้เงินไปโรงเรียนวันละ 5-10 บาท รู้สึกว่าไม่พอใช้ จะซื้อขนมก็ปาเข้าไปห่อละ 5 บาทแล้ว ไหนจะน้ำหวานอีก จึงเริ่มมาคุยกับคุณแม่ว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินเยอะๆ แม่ก็บอกว่าให้ทำงานแล้วเอาไปฝากธนาคารหรือฝากสหกรณ์ ตอนนั้นยังเด็กมากรู้สึกตื่นเต้นว่า โอ้โห!! ใครช่างใจดีเพิ่มเงินให้เราฟรีๆ ทำให้สนใจเรื่องของดอกเบี้ยก่อนเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องการเงิน

"ผมเริ่มเปิดบัญชีเงินฝากของตัวเองตั้งแต่ 7-8 ขวบ ตอนนั้นก็เริ่มคิดว่าดอกเบี้ยที่แบงก์ให้ต่ำมาก จึงเกิดการเปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินฝากของแต่ละแบงก์ และเริ่มจัดสรรเงินออม ย้ายไปฝากเงินในที่ๆ ให้ผลตอบแทนดีขึ้น"
พอถึงชั้นมัธยมปลาย ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสืออ่านโน่นอ่านนี่ไปเรื่อย มีอยู่วันหนึ่งเข้าไปธนาคารพบแผ่นพับเรื่องกองทุนรวม ทำให้อยากรู้รายละเอียดมากขึ้นเลยไปหาหนังสือมาอ่าน ทำให้รู้จักกับการลงทุนเป็นครั้งแรกว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงได้โดยลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง จุดนั้นเริ่มสนใจที่จะลงทุนแล้ว

เมื่อเริ่มออมจึงเป็นบันไดนำไปสู่การลงทุน ศุภชัย เล่าว่า รู้จักการลงทุนในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นหรือกองทุนรวมตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย แนวคิดการลงทุนที่เข้าใจตอนนั้นคนที่มีอายุน้อยจะสามารถรับความเสี่ยงได้เยอะ พออายุมากขึ้นก็จะรับความเสี่ยงได้น้อยลงเพราะมีภาระต้องรับผิดชอบมากขึ้น ตอนนั้นคิดว่ายังเด็กอยู่เลยคิดว่าสามารถเสี่ยงได้เต็มที่แต่อีกใจยังกลัวว่าเงินที่เก็บมาจะหายไปหรือเปล่า! เลยเริ่มต้นจากการลงทุนที่เสี่ยงต่ำก่อน ซื้อกองทุนตราสารหนี้ผสมหุ้นนิดหน่อย เพราะผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงินในธนาคาร
“ช่วงนั้นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารอยู่ปะมาณ 3% แต่กองทุนที่เราลงทุนได้ผลตอบแทน 7% เราก็ดีใจ..เฮ้ยยๆเจ๋งว่ะ! ตอนนั้นตลาดหุ้นเริ่มจะปรับตัวขึ้นมาแล้วก็ได้ผลตอบแทนรวมกันแล้วประมาณ 10% พอกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ตัดสินใจแล้วว่าต้องลงทุนหุ้นอย่างจริงจัง”

เขาเล่าว่า พอเดินเข้าไปปรึกษาพ่อกับแม่ ช่วงแรกยังไม่ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์ลงทุนที่ไม่ดีจากสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เรียกว่าต้องคุยกันเยอะกว่าจะเข้าใจ สุดท้ายท่านก็สนับสนุนโดยการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นให้โดยใช้ชื่อ "พ่อ"

ช่วงที่ศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แม้จะเรียนทางด้านการแพทย์แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเรื่องการลงทุน พอกำลังจะเรียนจบได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในโครงการ Money Management Award (MM Award) ประกวดเรื่องการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล หรือ Personal Finance ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกก็ได้รางวัล "ชนะเลิศ"

“ศาสตร์การลงทุนถือได้ว่าผมเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด จากการพูดคุยกับผู้รู้บ้าง อ่านหนังสือบ้าง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ผมก็อ่าน เงินเริ่มต้นของผมในการลงทุนประมาณ 1 แสนบาท ส่วนหนึ่งเป็นเงินเก็บ บางส่วนคุณพ่อก็มอบให้บ้าง”

“วีไอ” คือแนวทางที่ตอบโจทย์
ถามว่าก้าวแรกของการลงทุนเต็มตัวเป็นอย่างไร?? หมอคิดส์ ยอมรับว่า “มีเจ๊ง” ไปบ้าง ยังดีที่ว่าช่วงเริ่มต้นลงทุนปี 2543 ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นมาแล้ว ถือว่าโชคดีที่เข้าไปตอนที่ดัชนีอยู่ในระดับต่ำประมาณเกือบ 300 จุด ระหว่างทางก็มีทั้งกำไรและขาดทุนสลับกันไป

สไตล์การลงทุนช่วงแรกๆ มีหลายรูปแบบ ตอนยังเด็กๆ ก็ไปเข้าห้องค้า รู้สึกว่าเฮ้ย!! สนุกดีนะมันเจ๋งดี แต่อยู่ไปก็รู้ว่ามันลงทุนโดยใช้แค่ความรู้สึก ตัวเลขที่อยู่ในห้องค้ามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้เป้าหมายของเราเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลาด้วย

“จากนั้นมาผมสนใจการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ "วีไอ" มากขึ้น ไปดูที่มูลค่าของกิจการว่าเขาทำอะไรได้บ้าง ที่ผ่านมาวิธีการนี้มันเวิร์คมาก หุ้นหลายตัวในตลาดหุ้นเราดีขึ้นมากราคาเลยสะท้อนความเป็นจริง บางตัวสามารถทำกำไรได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นทำให้เรามั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว การลงทุนแบบ Value Investment นี่แหละน่าจะตอบโจทย์มากที่สุด”

ประสบการณ์ที่มากขึ้นทำให้เขาเริ่มเรียนรู้ว่า ตลาดหุ้นเรื่องของ “จังหวะเวลา” มีความสำคัญมาก ต่างจากการออมเงินที่บอกว่า "ออมก่อนรวยกว่า" แต่สำหรับตลาดหุ้น Timing คือ "หัวใจ" การเข้าออกให้ถูกจังหวะคือ "การสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด" แน่นอนว่าหุ้นให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก แต่ถ้าเข้าออกไม่ถูกจังหวะก็จะเสียโอกาส

ศุภชัย ให้แนวคิดในการเลือกหุ้นที่จะลงทุนประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ หนึ่ง..ต้องรู้จักตัวเองก่อน ว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้ระดับไหน บางคนอาจจะชอบหุ้นเดย์เทรดซื้อปุ๊ป! ขายเลยก็ได้ แต่แบบนั้นก็มีความเสี่ยง สอง..ดูตัวธุรกิจของเขาว่าเป็นอย่างไร เราเข้าใจธุรกิจนั้นไหม ส่วนตัวจะคิดว่า "การซื้อหุ้นคือการซื้อธุรกิจ" เขาด้วย สาม..รู้จักตลาดที่เขาทำธุรกิจอยู่ ว่าสถานการณ์ตลาดปัจจุบันและในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป

“หลักการใหญ่ทั้ง 3 ข้อที่ผมใช้นี้ ลงทุนร้อยครั้ง..ขาดทุนน้อยครั้ง ไม่ได้บอกว่าไม่ขาดทุน แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันสูงกว่าแนวทางแบบอื่น”

หุ้นที่ลงทุนด้วยวิธีการแบบวีไอ ศุภชัย จะเริ่มจากธุรกิจที่รู้จักเป็นอย่างดีก่อนหรือธุรกิจที่เข้าใจได้ไม่ยาก เช่นอาหารการกิน เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว พยายามดูธุรกิจที่เข้าถึงง่ายๆ รูปแบบธุรกิจไม่ซับซ้อน เวลาอ่านบทวิเคราะห์จะเข้าใจง่ายว่าสถานการณ์ธุรกิจตอนนี้เป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร ส่วนธุรกิจที่รู้จักดีแน่นอนว่าต้องมีธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ด้วย
“รวย” จากวิกฤติซับไพร์ม
ถามว่าเรียนหมอมาช่วยอะไรเรื่องการลงทุนได้บ้าง!!! เขาตอบว่า ช่วยเรื่องของระบบการคิดมากกว่า เพราะการเรียนแพทย์จะสอนให้คิดเป็นระบบ รวมถึงความมีวินัยด้วยเพราะคนเป็นหมอต้องมีวินัยสูง สองสิ่งนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการลงทุนได้เยอะ
เขาเสริมว่า อัตราส่วนทางการเงินที่ให้ความใส่ใจเวลาจะเข้าลงทุนอย่างมากคือความ "ถูก-แพง" ของราคาหุ้น หรือ พี/อี เรโช แล้วก็ Book Value เรื่องของงบการเงินนี่สำคัญมากสำหรับผู้ที่จะเป็นนักลงทุน ต้องอ่านให้ออก เพราะถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการแล้วดูบัญชีไม่เป็นจะไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า
“การลงทุนก็เหมือนเล่นไพ่ คุณไม่รู้ว่าไพ่ที่อยู่ในมือคืออะไร ก็เกทับลงไป โอกาสที่จะเจ๊งก็มี เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่มีเวลาไปดู ก็ให้มืออาชีพไปดูแทนดีกว่า ไม่ต้องไปลุ้นเปิดไพ่ว่าจะออกหัวหรือก้อย”
แม้ว่าส่วนตัวจะชื่นชอบเทคโนโลยีแต่หมอคิดส์บอกว่า “ไม่ปลื้มหุ้นเทคโนโลยี" ในเมืองไทยเท่าไร เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกเทรดดิ้งมากกว่าผลิตเองหรือถ้าจะมีก็แค่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พวกที่ทำซอฟท์แวร์หรือเว็บไซต์แทบไม่มีเลย
ถามชัดๆ ว่าในพอร์ตมีหุ้นอะไรอยู่!! เขาตอบว่า..มีไม่เยอะครับ! ก็จะมีหุ้นแบงก์ อาหาร โรงพยาบาล พลังงาน ส่วนใหญ่เป็นหุ้นบลูชิพที่มีความมั่นคงไม่หวือหวา ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้คิดจะสร้างรายได้หลักจากการลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องไปหาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แต่ผันผวนสูงเข้ามาไว้ในพอร์ต
“อย่างที่บอกผมไม่ได้เป็น VI เต็มเวลา จึงไม่มีเวลาที่จะไปรีเฟรชพอร์ตให้มันสดใหม่อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเราก็ดูอยู่เป็นระยะๆ พยายามดูอยู่ทุกไตรมาส พอร์ตของผมจะค่อยๆ โตตามตลาดมากกว่า”
หมอคิดส์ไขคำตอบว่าทำไม! ถึงสร้างความมั่งคั่งได้อย่างรวดเร็ว เริ่มต้นมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วหลังจากเกิดวิกฤติซับไพร์ม ตอนนั้นแทบจะไม่ลงทุนเลยเพราะเริ่มมี “กลิ่น” ออกมาแล้วว่าทั่วโลกเศรษฐกิจจะไม่ดีก็เลยลดการลงทุนลง เนื่องจากตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างเยอะ พอต่างชาติขาย โอกาสที่บ้านเราจะลงเยอะก็สูง อีกอย่างสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยในบ้านเรายังค่อนข้างสูง นักลงทุนสถาบันยังไม่แข็งแรงมากนัก ความหวั่นไหวจะเป็นไปตามนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างเยอะ
“ผมมองว่าต้องมีแจ็คพ๊อต (หุ้นร่วง) แน่!! ก็พยายามลดการลงทุนลง ประกอบกับช่วงนั้นงานเริ่มเยอะขึ้นเลยหันมาโฟกัสที่ธุรกิจและให้มืออาชีพช่วยดูแล ตอนนั้นก็ผันเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวมเยอะมากเพื่อลดความเสี่ยงตรงนั้น”

เขาอธิบายต่อว่าช่วงสิบปีที่ลงทุนมา ห้าปีแรกถือว่าเป็นช่วงลองผิดลองถูก ตอนแรกๆ ยังเล่นหุ้นระยะสั้นอยู่ที่เจ๊งไปก็มี ส่วนตัวถือว่าเป็นช่วง "ลองของ" พอได้กำไรมาก็อาไป "เสี่ยง" ใหม่ จนกระทั่งพบแนวทางของตัวเอง หุ้นที่ซื้อมาตั้งแต่วิกฤติซับไพร์มบางส่วนก็ยังถือมาจนถึงวันนี้ บางตัวก็ขายออกไปบ้างเพราะราคาขึ้นมาเยอะแล้ว

“ผมมีหุ้นโรงพยาบาลตัวหนึ่งที่ให้ปันผลดี กำไร Capital Gain ก็ดี ตอนนั้นที่ลงทุนเพราะผมเป็นหมอเลยทำให้เข้าใจธุรกิจของเขา อีกอย่างได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลนั้นด้วยเลยเห็นภาพชัดเจน ถือว่าได้กำไรจากหุ้นตัวนี้พอสมควร"

หุ้นตัวดังกล่าวจะเป็นหุ้นอะไรและหุ้นตัวไหนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับ นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ นักธุรกิจไอที และปัจจุบันเขากระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ใดบ้าง ตามต่อสัปดาห์หน้า..ห้ามพลาด!!!





Tags : ศุภชัย ปาจริยานนท์
 
 
 
 
 
 
ที่มา :: http://www.bangkokbiznews.com/
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น